แผ่นดินถล่ม บนดาวอังคาร

(ภาพ-NASA/JPL-Caltech/University of Arizona)

กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง “ไฮไรส์” (HiRISE-High Resolution Imaging Science Experiment) ซึ่งติดตั้งอยู่บนยานสำรวจดาวอังคารจากวงโคจร “มาร์ส รีคอนเทนสแซนซ์ ออร์บิเทอร์” ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ถ่ายภาพที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินถล่ม (แลนด์สไลด์) บนดาวอังคารเอาไว้ได้ เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา และทางนาซานำออกมาเผยแพร่เมื่อ 25 เมษายน โดยเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากสภาวะแรงโน้มถ่วง เหมือนกับกระบวนการแผ่นดินถล่มบนโลกนั่นเอง

ภาพดังกล่าวถ่ายได้จากบริเวณพื้นผิวของดาวอังคารที่เรียกว่า “เซอร์เบรัส ฟอสเซ” (Cerberus Fossae) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นบริเวณที่เกิดระบบรอยแยกของเปลือกดาวอังคารที่มีอายุน้อยที่สุด

จากภาพถ่ายนี้นักธรณีวิทยาสังเกตพบว่า มีการถล่มของแผ่นดิน 2 แบบปรากฏให้เห็นชัดเจน อย่างแรกเป็นการถล่มของดินหรือหินที่เป็นก้อนขนาดใหญ่มหึมา ซึ่งจะเห็นเป็นสีน้ำเงินจางๆ บริเวณทางตอนบนของภาพเหนือฉากหลังที่มีสีน้ำเงินเข้มนั่นเอง โดยเชื่อว่าดินหรือหินก้อนใหญ่มหึมาเหล่านี้หลุดถล่มลงมาจากแนวชั้นบนสุดของชั้นหิน ที่เห็นเป็นชั้นบางๆ อยู่ใกล้กับบริเวณขอบด้านบนสุดของภาพนั่นเอง

ปรากฏการณ์ถัดมาเป็นลักษณะการถล่มที่เป็นแนวแคบๆ เห็นเป็นสีน้ำเงินคล้ำตลอดแนวชั้นหินสีน้ำเงิน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นการถล่มลงมาตามแนวลาดเอียง แต่เป็นของหินก้อนขนาดเล็กกว่ามากนั่นเอง

Advertisement

การถล่มของหินและดินดังกล่าวรู้จักกันดีจากปรากฏการณ์บนโลก มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการทางวิทยาศาสตร์ว่า “การเคลื่อนย้ายมวล” (Mass movement หรือ Mass wasting) แต่เมื่อได้พบเห็นบนดาวอังคารก็อดทำให้นักวิทยาศาสตร์อยากรู้อยากเห็นเพิ่มเติมไม่ได้

นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะสามารถทำความเข้าใจได้ถ่องแท้ว่า กระบวนการเคลื่อนย้ายมวลที่เกิดขึ้นบนดาวอังคารนั้น แตกต่างกันออกไปตามพื้นผิวต่างบริเวณกันหรือไม่ และมันเกิดขึ้นแตกต่างกันตามฤดูกาลต่างๆ บนดาวอังคารหรือไม่

มาร์ส รีคอนเนสแซนซ์ ออร์บิเทอร์ เดินทางถึงดาวอังคารตั้งแต่ปี 2006 นักวิทยาศาสตร์ของนาซาหวังว่า “ไฮไรส์” จะยังคงทำงานถ่ายภาพดาวอังคารได้ต่อไปอีกนานหลายปีนับจากนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image