นาซาประกาศผลประกวด แบบบ้านบน”ดาวอังคาร”

(ภาพ-AI SpaceFactory/Plomp/NASA)

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) แห่งสหรัฐอเมริกา มอบรางวัลชนะเลิศมูลค่า 500,000 ดอลลาร์ หรือราว 15.8 ล้านบาท ให้กับบริษัท “เอไอ สเปซแฟคตอรี” สำนักงานออกแบบในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ได้รับรางวัลใหญ่ที่สุดในการประกวดแบบที่พักอาศัยซึ่งสามารถสร้างด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ หรือทรีดีพรินติ้ง เพื่อนำไปใช้ในการสร้างที่พักอาศัยสำหรับมนุษย์ยุคบุกเบิกอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นบนดวงจันทร์หรือบนดาวอังคารต่อไป

แบบบ้านทรงสูงที่พรินต์จากเครื่องพิมพ์สามมิติได้ของ เอไอ สเปซแฟคตอรี เรียกว่า “มาร์ชา” ถูกออกแบบมาให้เป็นทรงสูง เพรียว เพื่อลดความจำเป็นในการใช้ยานโรเวอร์หรือยานเคลื่อนที่หลายคันในการก่อสร้างบนภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคย เพราะมันสามารถก่อสร้างได้โดยใช้เพียงแขนกลสำหรับติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ซึ่งปกติติดตั้งไว้กับยานโรเวอร์ทั่วไปอยู่แล้วได้ โดยมีข้อแม้เพียงว่าตัวยานจำเป็นต้องอยู่นิ่งกับที่ระหว่างการก่อสร้างเท่านั้น

เจ้าของผลงานอันดับสองที่ผ่านการคัดเลือกของทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาก็คือ ทีมเพนน์สเตท ที่ได้รับรางวัลเป็นเงินมูลค่า 200,000 ดอลลาร์ หรือราว 6.3 ล้านบาทไป

การชี้ขาดรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากทีมที่เข้ารอบสุดท้ายในการประกวด ต้องผ่านการประกวดมหาโหดขั้นสุดท้ายที่กินเวลานานถึง 30 ชั่วโมง เพราะแต่ละทีมต้องสร้างบ้านจริงๆ จากแบบบ้านที่ออกแบบมาโดยย่อส่วนให้เหลือเพียง 1 ใน 3 ของแบบบ้านจริง จำกัดให้แต่ละทีมต้องใช้เทคโนโลยีแขนกลเพื่อการก่อสร้างเท่านั้น โดยที่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่าแบบบ้านของตนนั้นสามารถก่อสร้างได้โดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมในกรณีที่ถูกนำไปก่อสร้างบนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ

Advertisement

การแข่งขันรอบสุดท้ายดังกล่าวมีขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์การเรียนรู้และการสาธิต เอ็ดเวิร์ดส์ ของบริษัทแคเทอร์พิลลาร์ ในเมืองเอ็ดเวิร์ดส์ รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา โดยจำกัดให้แต่ละทีมมีเวลาเตรียมการ แต่ต้องก่อสร้างบ้านตามแบบที่ออกแบบมาให้แล้วเสร็จภายใน 10 ชั่วโมง โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบขั้นตอนการทำงานทุกระยะ นอกจากนั้น สิ่งปลูกสร้างที่เสร็จเรียบร้อยแล้วจำเป็นต้องผ่านการทดสอบเชิงคุณภาพ อย่างเช่น การผสมวัสดุ ความทนทานของวัสดุที่ใช้ การทดสอบการรั่วไหลและความแข็งแรง

(ภาพ-AI SpaceFactory/Plomp/NASA)

มอนซิ โรมัน ผู้จัดการโครงการประกวด “คอนเทนเนียลชาลเลนจ์” ของนาซา ระบุว่า ผู้เข้าประกวดในรอบนี้ต้องใช้ทั้งความคิดเชิงนวัตกรรมและความชาญฉลาดสูงมาก และจะช่วยให้นาซาสามารถพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นไปอีกระดับหนึ่งเพื่อให้สามารถสอดรับกับความต้องการสร้างที่พักที่ยั่งยืนสำหรับมนุษย์บนดวงจันทร์เป็นลำดับแรก และหลังจากนั้นก็จะเป็นดาวอังคารต่อไป

“เราต้องแสดงความยินดีกับวิสัยทัศน์, ความทุ่มเทและนวัตกรรมของพวกเขา ในการพัฒนาแนวความคิดซึ่งไม่เพียงจะช่วยให้เป้าหมายในการบุกเบิกอวกาศห้วงลึกของนาซารุดหน้าไปอีกขั้นเท่านั้น ยังสามารถช่วยในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยบนโลกนี้ได้อีกด้วย”

Advertisement

เอไอ สเปซแฟคตอรี มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแบบของมาร์ชามาปรับใช้เป็นวิธีการสร้างที่พักอาศัยบนโลกด้วยการนำเอาวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ซึ่งมีที่มาจากพืชเป็นหลักในการก่อสร้าง เพื่อขจัดการก่อสร้างอาคารทั่วไปที่ก่อให้เกิดคอนกรีตที่เป็นของเสียสูญเปล่า ไม่สามารถรีไซเคิลได้ให้หมดไป

โดยเรียกแบบบ้านสำหรับสร้างบนโลกว่า “เทอรา” โดยจะมีการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง ในเร็วๆ นี้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image