เผยสาเหตุคร่าชีวิต นักปีนเขาเอเวอเรสต์

(Nirmal Purja/@Nimsdai Project Possible via AP)

บรรดานักปีนป่ายภูเขาสูงที่แห่กันไปท้าทายตัวเองเพื่อปีนขึ้นไปสู่ยอดสูงสุดของเอเวอเรสต์ ยอดเขาที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในโลกในช่วงโอกาสเปิดของปีนี้ นำชีวิตไปทิ้งไว้ที่นั่นแล้วถึง 11 คน ในช่วงเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนชี้ว่า สาเหตุหลักมาจากสภาพการสัญจรบนเส้นทางปีนเอเวอเรสต์แออัดเป็นพิเศษ เพราะทางการเนปาลยังออกใบอนุญาตให้ปีนเขาได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทางการเนปาลเองยืนยันว่าสาเหตุหลักของการเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากความแออัด และการติดขัดของการปีนเขา แต่เป็นเพราะสภาพอากาศและการไม่เตรียมตัวให้พร้อมของนักปีนเขาที่เสียชีวิตมากกว่า

นายแพทย์ แอนดรูว์ ลุคส์ ศาสตราจารย์ในแผนกโรคปอด, การพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตและการนอนหลับ ประจำสำนักการแพทย์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เคยศึกษาวิจัยโรคที่เกิดกับนักปีนเขาระบุว่า แม้สภาพการสัญจรที่แออัดจะไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของการตาย แต่มีส่วนอย่างมากทำให้เกิดการเสียชีวิตมากผิดปกติของนักปีนเขาเอเวอเรสต์ในปีนี้

ยอดสูงสุดของเทือกเขา เอเวอเรสต์ อยู่ที่ระดับความสูง 8,848 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล แต่ศาสตราจารย์ลุคส์ระบุว่า นักปีนเขามักเกิดอาการ “เมาภูเขาเฉียบพลัน” หรือ “Acute mountain sickness (AMS)” ที่ระดับความสูงน้อยกว่าความสูงของเอเวอเรสต์มาก คือสามารถเริ่มต้นได้ที่ 2,500 เมตรเท่านั้น

ตามข้อมูลที่ได้จากการวิจัยของศาสตราจารย์ลุคส์ ในปี 2015 ชี้ว่า แม้เอเอ็มเอสไม่ได้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เป็นอาการที่ทำให้นักปีนเขารู้สึกย่ำแย่ และมีโอกาสเกิดกับนักปีนเขาที่ปีนขึ้นไประหว่างความสูง 1,850-5,895 เมตรได้มากถึง 77 เปอร์เซ็นต์ อาการที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดโรคนี้ก็คือ ปวดหัว, วิงเวียน, ง่วงงุน เซื่องซึม และอาการเบาโหวงเหมือนจะเป็นลม

Advertisement

โรคนี้นักปีนเขาสามารถป้องกันได้ด้วยการไม่เร่งเร้าตัวเองมากเกินไป และใช้ยาป้องกันการเกิดอาการเนื่องจากอยู่ในที่สูง อย่างเช่น อเซทาโซลาไมด์ (ชื่อการค้าคือ ไดอาม็อกซ์) และใช้สเตียรอยด์ต่อต้านการอักเสบ เดกซาเมทาโซน เป็นต้น โดยผู้เกิดอาการขึ้นควรหยุดการปีนขึ้นในทันที และถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ก็ต้องลงจากเขาเพื่อพบแพทย์ทันที

แต่ลุคส์ย้ำว่า เอเอ็มเอสกลับเป็นอาการขนานเบาที่สุดที่จะเกิดกับนักปีนเขาได้เท่านั้นเอง

อาการที่พบในนักปีนเขาที่ร้ายแรงกว่า และส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตได้นั้น คือ อาการสมองบวมจากความสูง (high-altitude cerebral edema หรือ HACE) และอาการปอดบวมน้ำจากความสูง (high-altitude pulmonary edema หรือ HAPE) ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเกิดการสะสมของของเหลวภายในปอด อาการเหล่านี้แม้จะเกิดขึ้นได้ยากแต่สามารถทำให้ผู้ที่มีอาการเสียชีวิตได้

Advertisement

ตัวอย่างเช่น เอชเอซีอี หรือเฮซนั้นเกิดขึ้นกับนักปีนเขาที่ปีนอยู่ในระดับความสูง 3,000 เมตรเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คนที่จะเกิดเฮซมักมีอาการเอเอ็มเอสก่อน แต่ลุคส์ระบุว่า ในทันทีที่สมองเกิดบวม นักปีนเขาจะสูญเสียสมดุลทรงตัว หรืออวัยวะไม่ทำงานสอดประสานกันตามปกติ ทั้งยังส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจ เช่นรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมากเป็นพิเศษ ไม่นานหลังจากนั้นอาการสมองบวมจะทรุดหนักลงสู่ขั้นโคม่า

คนที่เกิดอาการสมองบวม ควรถูกนำตัวลงมาจากภูเขาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหากจำเป็นอาจต้องให้ออกซิเจนเสริม, ให้ยา เดกซาเมทาโซน หรือนำตัวเข้าห้องปรับบรรยากาศ (ไฮเปอร์บาริค แชมเบอร์)

ในขณะที่อาการปอดบวมจากความสูงนั้น สามารถเกิดได้กับนักปีนเขาราว 8 เปอร์เซ็นต์ ที่ระดับความสูง 2,500-5,500 เมตร ยิ่งมีน้ำสะสมอยู่ในปอดมากเท่าใด ยิ่งทำให้นักปีนเขาเคลื่อนไหวได้ช้าลงเท่านั้น ตามมาด้วยอาการไอ ในบางกรณีอาจไอออกมาเป็นเสมหะปนเลือดได้ ในขณะเดียวกัน อาการหิมะกัด, อาการอุณหภูมิร่างกายต่ำเกินไป หรือ ไฮโปเทอร์เมีย และอาการอ่อนล้ารุนแรง ก็ทำให้สุขภาพของนักปีนเขาแย่ลงได้พร้อมกันไปด้วย การยืนอยู่กับที่เพื่อรอการปีนขึ้น หรือ ปีนลง ก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นแต่อย่างใด

ศาสตราจารย์ลุคส์ชี้ว่า ยิ่งใช้เวลาอยู่ในระดับความสูงที่ทำให้เกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งนานมากเท่าใด ยิ่งเสี่ยงต่อชีวิตมากเท่านั้น เพราะการที่นักปีนเขาไม่สามารถปีนลงได้เนื่องจากเส้นทางแออัดทำให้ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีนั่นเอง

เมื่อรอคิวอยู่บนเส้นทาง นักปีนเขาจะไม่ได้กิน, ดื่ม หรือหลับ และยิ่งต้องใช้ออกซิเจนเปลืองกว่าเดิม ขณะที่อยู่ในท่ามกลางความเย็นระดับที่ทำให้ร่างกายเยือกแข็งได้

ความแออัดบนเส้นทางสู่ยอดเอเวอเรสต์ จึงสามารถคร่าชีวิตของนักปีนป่ายที่ใฝ่หาความสำเร็จได้เสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image