รัสเซียเผยแผนตัดหน้ามะกัน ส่งคนไปลงบนดวงจันทร์

(ภาพ-Roscosmos)

นายดมิตรี โรโกซิน ผู้อำนวยการบรรษัทอวกาศแห่งรัฐ (รอสคอสมอส) ของรัสเซีย เปิดเผยแผนเตรียมการซึ่งจะลงเอยด้วยการส่งมนุษย์อวกาศของรัสเซีย ไปลงเพื่อสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ไว้ระหว่างการเดินทางไปกล่าวปราศรัยต่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมอสโก เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า รัสเซียกำหนดจะส่งมนุษย์อวกาศไปลงบนดวงจันทร์ในราวปี 2030 หรือก่อนหน้านั้น หลังจากที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยภารกิจสำรวจอวกาศโครงการ อาร์เทมิส ซึ่งกำหนดจะส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2040

การปราศัยดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศให้กับนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ ให้เข้าทำงานกับรอสคอสมอส หลังจากที่มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมงานกับรอสคอสมอส น้อยลงในระยะหลัง สืบเนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน รวมทั้งเงินเดือนต่ำ และขวัญกำลังใจตกต่ำอีกด้วย

(ภาพ-Roscosmos)

นายโรโกซินกล่าวว่า เพื่อให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายในเรื่องนี้ รัสเซียต้องพัฒนาจรวดส่งรุ่นใหม่ระดับ “ซุปเปอร์เฮวี” ซึ่งมีศักยภาพพอที่จะส่งสัมภาระหนัก 103 เมตริกตันขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำเหนือโลกได้ และส่งสัมภาระหนัก 27 เมตริกตัน ขึ้นสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ได้ ขึ้นมาก่อนเป็นลำดับแรก สมรรถนะของจรวดส่งดังกล่าวใกล้เคียงกับระบบส่งยานอวกาศใหม่ของนาซา ที่รู้จักกันในชื่อระบบ “บล็อค บี.” นั่นเอง

ลำดับตามแผนพัฒนาการเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ จะเริ่มต้นด้วยส่งยานอวกาศ “เฟเดอเรชัน” ขึ้นสู่อวกาศในปี 2022 ต่อด้วยการส่งยานเฟเดอเรชันเข้าเทียบสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ภายในปี 2023 หลังจากนั้นก็จะเป็นการทดลองส่งยานอวกาศเพื่อสำรวจอวกาศห้วงลึก (ดีพ สเปซ ไฟลต์) ในราวกลางทศวรรษ 2020 ปิดท้ายด้วยการ ส่งยานสำรวจดวงจันทร์ “ลูนา-กรันท์” ไปเก็บตัวอย่างบนพื้นผิวแล้วนำกลับมาสู่โลกในปี 2027

Advertisement

หลังจากนั้น ในปี 2029 ก็จะเริ่มโครงการสำรวจดวงจันทร์ด้วยมนุษย์วอากาศ โดยจะจัดส่งยานสำรวจที่มีมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ พร้อมกับทดสอบระบบจัดส่งยานแลนเดอร์ไปลงยังพื้นผิว พร้อมกับสถานีฐานบนดวงจันทร์ที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบพองลม ส่วนการส่งมนุษย์อวกาศไปลงบนดวงจันทร์นั้นจะเกิดขึ้นในปี 2030 หรือก่อนหน้านั้นหากมีความเป็นไปได้เกิดขึ้น

แผนดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นอกจากอาจมีปัญหาเรื่องงบประมาณสนับสนุนแล้ว ยังมีปัญหาทางการเมืองเรื่องตำแหน่งของนายโรโกซิน ที่ไม่มั่นคงอย่างมากในเวลานี้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image