“กล้วยหอม” กำลังหมดจากโลก!?!

(ภาพ-pixel2013 via Pixabay)

ทําไมกล้วยหอม (คาร์เวนดิช) ถึงจะหมดไปจากโลกนี้ได้ ในเมื่อเรายังพบเห็นกันอยู่มากมายในตลาด ในห้างสรรพสินค้า และยังคงมีอีกหลายต่อหลายประเทศ ปลูกกล้วยชนิดนี้ส่งออกขายมีรายได้เป็นกอบเป็นกำอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้? คำตอบก็คือ เป็นเพราะโรคสองชนิดที่กำลังทำลายล้างแปลงปลูกแบบโมโนคัลเจอร์ คือแปลงปลูกกล้วยอย่างเดียวขนาดใหญ่ ในแทบทุกทวีปทั่วโลก จนทำให้ นิโกลาส์ รูซ์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากองค์การไบโอเวอร์ซิตี อินเตอร์เนชันแนล ผู้นำแผนกคลังทรัพยากรพันธุกรรมกล้วยขององค์กร เกรงว่าจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์บังคับให้โลกต้องเลิกปลูกกล้วยหอม ในทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับกล้วยหอมทอง (กรอส มิเชล) เคยเป็นมาแล้วก่อนที่กล้วยหอมจะเป็นที่นิยมกันไปทั่วโลกอย่างตอนนี้

กล้วยหอมทองเคยนิยมกันทั่วโลก เรื่อยมาจนกระทั่งถึงราวทศวรรษ 1950 เมื่อไร่กล้วยหอมสายพันธุ์นี้ขยายออกไปทั่วโลกตามความนิยม เชื้อราที่เกิดจากดินชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ฟูซาเรียม วิลท์” (fusarium wilt) ซึ่งมีชื่อเรียกกันในทางวิชาการว่า “ทรอปิคัล เรซ 1” หรือ ทีอาร์ 1 เริ่มระบาดออกไปในทุกไร่กล้วย จนจำเป็นต้องหาสายพันธุ์กล้วยใหม่ที่ทนทานต่อโรคชนิดนี้ที่สามารถได้รับความนิยมในรสชาติได้ในทำนองเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือกล้วยหอม คาร์เวนดิช นี่เอง

กล้วยหอมที่ถูกบริโภคกันในแต่ละปีมากถึง 1000,000 ล้านลูกนี้ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์กล้วยหลายร้อยหรือนับพันสายพันธุ์ แต่ได้รับความนิยมมากที่สุดกลายเป็นกล้วยที่มีการผลิตกันมากที่สุดคือราว 50 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตกล้วยทั้งหมดทั่วโลก ในโลกตะวันตกกล้วยที่บริโภคกันแทบทั้งหมดคือคาร์เวนดิช หรือสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์กล้วยหอมชนิดนี้ทั้งสิ้น

เชื้อรา ฟูซาเรียม วิลท์ สายพันธุ์ใหม่ (ทีอาร์ 4) เริ่มระบาดในราวทศวรรษ 1990 ทีอาร์ 4 ระบาดเข้าสู่ลำต้น ปิดกั้นท่อลำเลียงน้ำ และในที่สุดก็ทำให้ต้นกล้วยตายลง ยาฆ่าเชื้อราใช้กับทีอาร์ 4 ไม่ได้ เนื่องจากมันอยู่ภายในดินที่ใช้เพาะปลูกนั่นเอง

Advertisement

แองเจลินา แซนเดอร์สัน นักนิเวศวิทยา จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในแคว้นเวลส์ ประเทศอังกฤษ ระบุว่า การทำไร่กล้วยขนาดใหญ่แบบโมโนคัลเจอร์ ช่วยให้การระบาดแพร่ออกไปได้เร็วและมากยิ่งขึ้น เพราะเท่ากับทำให้เชื้อรานี้มีอาหารบริโภคไม่มีวันหมดตลอด 24 ชั่วโมง จึงแพร่ระบาดไปทั่วดินของไร่ แล้วระบาดออกไปทั่วอาณาบริเวณใกล้เคียง

กล้วยหอมเองก็มีจุดอ่อนอยู่ในตัวเช่นกัน นั่นคือ มันขยายพันธุ์โดยไม่ได้ใช้การผสมพันธุ์ ดังนั้นกล้วยทุกต้นจึงเป็นเหมือน “ต้นโคลนนิ่ง” มาจากต้นก่อนหน้า ซึ่งยิ่งทำให้เชื้อราไม่เพียงกำจัดยากยังแพร่ออกไปไม่มีวันสิ้นสุด ในขณะเดียวกันก็มีเชื้อราที่ระบาดได้ง่ายอีกโรคหนึ่งแพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้ส่งผลให้โรคของกล้วยหอมซับซ้อนมากขึ้น นั่นคือเชื้อรา ซิกาโทกะดำ (black sigatoka)

ซิกาโทกะดำ แพร่ได้ง่ายเพราะสปอร์ของมันสามารถปลิวลอยไปกับลมได้ เมื่อกล้วยติดเชื้อจะทำให้ออกผลน้อย ภาวะโลกร้อนทำให้เชื้อราชนิดนี้แพร่ได้ง่ายขึ้นมากทำให้การระบาดของโรคเพิ่มสูงขึ้นในบางพื้นที่ของโลกถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา และรูซ์ยืนยันแม้ว่าจะใช้ยาฆ่าเชื้อได้แต่ก็ยุ่งยากและสิ้นเปลืองสูงมากเพราะต้องฆ่าเชื้ออยู่อย่างน้อย 60 ครั้งต่อปี

Advertisement

ตามข้อมูลของ รูซ์ ฟูซาเรียม วิลท์ สายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดทำลายไร่กล้วยทั่วภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งในจีน, อินเดีย และไต้หวัน เช่นเดียวกับบางส่วนของออสเตรเลียและแอฟริกาตะวันออก

“ความเสี่ยงใหญ่หลวงที่สุดก็คือเกรงกันว่ามันจะระบาดไปยังอเมริกาใต้ ซึ่งมีไร่กล้วยหอมขนาดใหญ่ปลูกแบบโมโนคัลเจอร์อยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อส่งออกไปยังชาติตะวันตกทั้งหลาย” รูซ์ระบุ

นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า ถ้าทีอาร์ 4 ระบาดถึงประเทศในอเมริกาใต้อย่างเช่น เอกวาดอร์ เป็นต้น ก็เท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นของการหายไปจากโลกนี้ของกล้วยหอมคาร์เวนดิชนั่นเอง

สำหรับนิโกลาส์ รูซ์ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์กล้วยท้องถิ่นต่างๆ เอาไว้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ เผื่อว่าหนึ่งในจำนวนนั้นจะมีรสชาติเป็นที่นิยมกันทั่วโลกในอนาคตนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image