พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล มิติใหม่ในการให้บริการภาครัฐ

พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 หรือ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2562 แล้ว นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการบริการภาครัฐให้สะดวกขึ้น โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศ

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่า กฎหมายนี้มีที่มาจากข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ที่มุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูประบบข้อมูลภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลที่เปิดเผยและเชื่อมต่อกัน (Open and Connected Government) รวมทั้งเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ระบบการทำงานและข้อมูลของภาครัฐสามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เปิดเผยและโปร่งใส ภายใต้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ โดยมีกลไกตามกฎหมายเพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องและไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายดิจิทัลอื่น

โดยมีกลไกสำคัญของกฎหมาย 8 หัวข้อ คือ 1.ให้มีการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (แผนระดับชาติ) 2.ให้มีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 3.ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายนี้ 4.ให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เป็น กรอบในการจัดการบริหารข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ 5.ให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) 6.ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล (Open Government Data) 7.ให้หน่วยงานของรัฐแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน (Integration) และมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง 8.สนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัล ให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ

“เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้แล้วจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อหน่วยงานรัฐเองและประชาชนทั่วไปอย่างแน่นอน เนื่องจากการทำงานภาครัฐจะเปลี่ยนไป จะสามารถเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันได้สะดวกขึ้น การบริหารงานก็จะมีความโปร่งใส และมีความปลอดภัยด้วยธรรมาภิบาลข้อมูล ด้านประชาชนก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น คือ 1.ได้รับการบริการจากภาครัฐที่สะดวกและรวดเร็วไม่สร้างภาระแก่ประชาชน ลดการใช้สำเนาเอกสารในการติดต่อราชการ 2.การติดต่อภาครัฐ ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวทำได้ทุกเรื่อง หรือติดต่อออนไลน์ได้แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) 3.ใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ สำหรับการติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ และ 4.สามารถนำข้อมูลเปิดของหน่วยงานรัฐพัฒนานวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม”

Advertisement

นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ DGA กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามมาตรา 6 ของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิตามคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นการรวมคณะกรรมการด้านดิจิทัลจากหลากหลายคณะ ทำให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานในภาพรวมเพื่อให้การพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับในส่วนงานราชการสามารถเตรียมการหรือเริ่มการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ได้เลย เช่น การนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้กับการบริหารงานและการให้บริการประชาชน ลดการใช้กระดาษหรือสำเนาเอกสาร การจัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัลอีกช่องทางหนึ่ง รวมทั้งสร้างความตระหนักแก่บุคลากรในการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ เป็นต้น ในช่วงเริ่มต้น การดำเนินการในบางเรื่องจำเป็นต้องรอให้มีการกำหนดรายละเอียดในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายนี้ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง สพร.ได้จัดการประชุมระดมสมอง ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อนำความคิดเห็นมาจัดทำร่างกรอบแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลต่อไป โดย DGA จะเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่อำนวยการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานเกี่ยวกับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล

ด้าน นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่า การเป็นรัฐบาลดิจิทัลสิ่งสำคัญต้องให้ประชาชนได้สัมผัสถึงความเป็นดิจิทัล ซึ่งหนึ่งในกลไกหลักของ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลในหัวข้อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชื่อมโยงระหว่างกัน คือ จะต้องมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง โดยกฎหมายกำหนดให้ในช่วง 2 ปีแรก DGA จะต้องดำเนินการจัดตั้งศูนย์ เพื่อการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลและการดําเนินงาน ให้สามารถเห็นข้อมูลประชาชนเป็นภาพเดียวที่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ณ จุดเดียวหรือ One Stop Service (OSS) โดยแบ่งออกเป็นการบริการภาคประชาชน (Citizen Portal) และ ภาคเอกชน (Business Portal) ซึ่งได้ดำเนินงานสำหรับภาคประชาชน (Citizen Portal) ด้วยการพัฒนาระบบ Citizen Portal ในส่วนของ Information ให้เป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริการภาครัฐแล้ว ในปัจจุบันประชาชนสามารถประเมินความพึงพอใจหลังใช้บริการภาครัฐได้ผ่านแอพพลิเคชั่น CITIZENinfo ได้ทันที เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถพัฒนาและยกระดับบริการได้ตรงใจประชาชนมากที่สุด ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดให้เป็นเสมือน Google ภาครัฐที่ให้บริการข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อการติดต่อกับภาครัฐได้ในแอพพ์เดียว ทั้งติดตามสถานะบริการ จองคิวออนไลน์ ติดต่อทำธุรกรรมของหน่วยงานต่างๆ ออนไลน์ สามารถนำทางไปยังพิกัดสถานที่ราชการ สถานประกอบการ และสถานที่อื่นๆ เป็นข้อมูลเปิด เป็นต้น สำหรับการพัฒนา OSS ในภาคเอกชน (Business Portal) ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงขอใบอนุญาตบริการภาครัฐแล้วกว่า 40 ใบอนุญาต ที่เว็บไซต์ biz.govchannel.go.th ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ การขอใบอนุญาตต่างๆ โดยในอนาคตจะมีการเพิ่มบริการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกอบธุรกิจมากขึ้นอีก

นายวิบูลย์ ภัทรพิบูล รองผู้อำนวยการ DGA กล่าวถึงการให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนในเรื่องของ ข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data)ว่า ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ โดยประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอด ธุรกิจเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นเรื่องของข้อมูลทั้งสิ้น จึงต้องมีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) เป็นกรอบการกำกับดูแลข้อมูล โดยกรอบการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance Framework) มีเพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้ได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน มั่นคงปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัยได้จริง เพราะฉะนั้นทุกส่วนราชการต้องให้ความสำคัญ ทั้งการออกนโยบาย แนวปฏิบัติ การรักษาข้อมูลส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลหน่วยงานของตนเองได้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

Advertisement

กฎหมายนี้ได้กำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมทั้งข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย โดยมีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายนี้

หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กร

อัยการ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และหน่วยงานอิสระของรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image