ชู4กลุ่มสตาร์ตอัพมีอนาคต ในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้

สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ (ศอบต.) เร่งขับเคลื่อนการส่งเสริมนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ระบุถึงกลุ่มธุรกิจและรูปแบบนวัตกรรมที่มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ ทั้งยังได้เผยถึงแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรม และยังได้จัดให้มีงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ขึ้นอีกด้วย

นายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย NIA ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ (ศอบต.) เดินหน้ายุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมภาคใต้ชายแดน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ด้วยการต่อยอดงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์กรภาครัฐ มหาวิทยาลัย นักพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการ สตาร์ตอัพ และวิสาหกิจชุมชน

ด้าน นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำหรับภาคใต้ชายแดนเป็นกลุ่มพื้นที่ที่ไม่เพียงแต่จะมีความโดดเด่นในแง่ของศิลปวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เนื่องด้วยความตื่นตัวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ ทั้งยังมีการแพร่กระจายงานวิจัยและองค์ความรู้จากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากการได้มีโอกาสใกล้ชิดและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในภาคใต้ชายแดนยังพบอีกว่า ประเภทของกลุ่มธุรกิจหรือรูปแบบนวัตกรรมที่มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่

Halal Innovation หรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตกับกลุ่มประชากรในพื้นที่ภาคใต้ ภาคใต้ชายแดน และกลุ่มประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าและการเติบโตสูง โดยในการพัฒนานวัตกรรมด้านดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งธุรกิจอาหาร ธุรกิจด้านการแพทย์ ธุรกิจแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญและส่วนใหญ่ประกอบอาชีพและธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว ยังขาดแต่เพียงกระบวนการสร้างความแตกต่างและการเติมนวัตกรรม เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น นวัตกรรมเชิงสุขภาพ ระบบบริการใหม่ๆ การพัฒนาสินค้าที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงการออกแบบและเพิ่มความทันสมัยให้สอดคล้องกับผู้บริโภค เป็นต้น

Advertisement

Culture & Tourism Innovation โดยเป็นการหยิบนำความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมมาผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการด้านดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและดึงดูดใจมากขึ้น เช่นแพลตฟอร์มเพื่อการเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวเพื่อชาวไทยหรือชาวต่างชาติ บริการนำเที่ยวชุมชน ระบบจองที่พักและโรงแรม บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบจองตั๋ว ระบบจ่ายเงิน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและกระจายรายได้ไปสู่ผู้คนในชุมชน พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับผู้คนทั่วไปได้รับทราบถึงสถานที่ท่องเที่ยวและศิลป วัฒนธรรมที่น่าสนใจของภาคใต้ชายแดนได้อีกหลายเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการและสตาร์ตอัพหันมาพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนแล้ว เช่น ยี่เทียนทัวร์ แพลตฟอร์มนำเที่ยวเพื่อลดปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีนและช่วยให้ชาวจีนเข้าถึงการท่องเที่ยวไทยได้ง่ายมากขึ้น หรือ Hotel Hub บริการซื้อขายสินค้าในธุรกิจโรงแรมด้วยแอพพลิเคชั่น เป็นต้น

Market Place and E-Commerce ซึ่งเป็นการสร้างช่องทางการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะที่ผ่านระบบออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ล้วนหาข้อมูลและซื้อสินค้าจากช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือผู้ทำการค้าจึงต้องสร้างระบบการค้าออนไลน์ที่สามารถขายสินค้าหรือบริการท้องถิ่นที่หาไม่ได้ทั่วไป เช่น สินค้าฮาลาล วัตถุดิบท้องถิ่น อาหารแปรรูป ของฝาก ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้น พร้อมลดปัญหาการตลาด การกระจายสินค้า ต่อเนื่องถึงการสร้างกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางจำนวนมากในอนาคต

Smart Farming หรือการทำเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนส่วนใหญ่ยังมีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และฟาร์มเลี้ยงสัตว์กันเป็นจำนวนมาก การนำแนวคิดสมาร์ทฟาร์มเข้ามาใช้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยตอบโจทย์การทำเกษตรยุคใหม่ โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลที่แม่นยำ การลดอุปสรรคการทำเกษตรกรรม เช่น การกำจัดศัตรูพืช การควบคุมสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการพื้นที่ และยังจะช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิต สร้างมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ตลอดจนช่วยให้ผลผลิตมีราคาที่สูงกว่าฟาร์มทั่วไป

Advertisement

สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image