เคยพบ “สิ่งมีชีวิต” บนดาวอังคาร วอน “นาซา” ทดลองซ้ำ

คิวริออสซิตี (ภาพ-Pixabay)

กิลเบิร์ต วี. เลวิน อดีตหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการทดลอง “ลาเบลด์ รีลีส” หรือ “แอลอาร์” เมื่อครั้งที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) เคยส่งยานไวกิ้ง แลนเดอร์ส ไปลงยังพื้นผิวดาวอังคารในปี 1976 หรือเมื่อ 43 ปีก่อนหน้านี้ เขียนบทความเผยแพร่ในนิตยสารแนววิทยาศาสตร์ชื่อ ไซนซ์ทิฟิค อเมริกัน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา เปิดเผยความลับของนาซา เอาไว้ว่า หนึ่งในจำนวนการทดลองเพื่อค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารในครั้งนั้น ให้ผลเป็นบวก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าห้องทดลองไร้มนุษย์ของยานตรวจพบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตจริงๆ อย่างน้อยก็ 1 ครั้ง แต่เมื่อการทดลองครั้งต่อๆ มา ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ในแบบเดียวกัน จึงไม่สามารถสรุปตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ว่าเป็นการค้นพบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตจริงๆ

รายงานผลการทดลองครั้งนั้นของนาซา ได้แต่บันทึกผลเอาไว้เพียงว่าเป็นการ “ค้นพบร่องรอยของกระบวนการทางเคมีที่คล้ายคลึงกับกระบวนการของสิ่งมีชีวิต” เท่านั้นเอง

เลวิน ระบุว่า หลักการของการทดลองแอลอาร์นั้นง่ายมาก ก็คือ ไวกิ้งแลนเดอร์จะนำเอาสารอาหารขึ้นไปด้วย เมื่อได้ตัวอย่างดินของดาวอังคารมาแล้วก็จะนำสารอาหารดังกล่าวผสมลงไป ถ้าหากดินตัวอย่างจากดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตปรากฏอยู่ก็จะต้องกินสารอาหารดังกล่าวนั้นซึ่งจะเป็นกระบวนการย่อยที่ปล่อยร่องรอยที่มีลักษณะเป็นก๊าซออกมาให้ตรวจสอบพบได้ โดยเครื่องมือตรวจวัดด้วยกัมมันตภาพรังสี

เลวินระบุว่า เพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ได้เกิดจากปฏิกิริยาทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตจริงๆ กระบวนการทดสอบจึงกำหนดขั้นตอนต่อไปให้นำเอาดินตัวอย่างเดียวกันนั้นไปเผาในอุณหภูมิระดับที่รู้กันว่าจะทำให้สิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่อยู่ในดินดังกล่าวจะเสียชีวิตทั้งหมด เมื่อตรวจวัดหาร่องรอยที่เป็นก๊าซใหม่ในตัวอย่างนี้จะต้องไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

Advertisement

เลวิน ระบุว่า ในการทดลองครั้งหนึ่ง ปรากฏผลออกมาตรงกับที่คาดหมายไว้ทุกประการ ซึ่งนั่นแสดงว่าตัวอย่างนั้นของไวกิ้งแลนเดอร์ปรากฏสิ่งมีชีวิตอยู่ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินกระบวนการดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกในภายหลัง ไม่เคยปรากฏผลลัพธ์เหมือนกับครั้งดังกล่าวขึ้นอีกเลย เท่ากับว่า ไม่สามารถยืนยันผลการทดลองดังกล่าวได้นั่นเอง

นั่นทำให้นาซา จำเป็นต้องบันทึกไว้ว่า ในการทดลองครั้งดังกล่าว “ได้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีซึ่งไม่มีใครรู้” คล้ายคลึงกับกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นในกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตขึ้นเท่านั้นเอง

เลวิน ระบุเอาไว้ด้วยว่า ตลอด 43 ปีหลังจากนั้น นาซา ไม่เคยติดตั้งเครื่องมือตรวจหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารเพื่อศึกษาวิเคราะห์ต่อเนื่องจากผลการค้นพบที่น่าตื่นเต้นครั้งนั้นไปกับยานสำรวจที่ส่งไปลงยังพื้นผิวดาวอังคารอีกเลย

Advertisement

แต่ยิ่งสำรวจ ยิ่งพบหลักฐานแวดล้อมที่บ่งชี้มากขึ้นทุกทีว่ามีสิ่งมีชีวิตในบางลักษณะอยู่หรือเคยดำรงอยู่บนดาวอังคาร เช่น การวิเคราะห์องค์ประกอบของพื้นผิวดาวอังคารของยานคิวริออสซิตี เมื่อปี 2018 แสดงให้เห็นว่ามี สารอินทรีย์ บางอย่างเจือปนอยู่ ล่าสุด คิวริออสซิตี เพิ่งสำรวจพบชั้นตะกอนบนพื้นผิวดาวอังคารที่แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งมีทะเลสาบน้ำเค็มปรากฏอยู่ที่นั่น

เลวินตั้งข้อสังเกตเอาเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า พร้อมกับที่มีหลักฐานแวดล้อมสนับสนุนมากขึ้น กลับไม่มีการพบหลักฐานเพิ่มเติมใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ เลวิน กับเพื่อนร่วมทีมที่รับหน้าที่วิเคราะห์ผลการทดลองของยานไวกิ้งเมื่อ 43 ปีก่อน เรียกร้องต่อนาซาให้ติดตั้งอุปกรณ์ทดลองตรวจสอบหาสิ่งมีชีวิตโดยตรงไว้กับยานแลนเดอร์/โรเวอร์ ที่จะส่งไปลงยังดาวอังคารในปี 2020 นี้ด้วย

มาร์ส 2020 โรเวอร์ มีกำหนดส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในราวกลางปีหน้าหรือไม่ก็ในราวต้นปี 2021 จะมี “เชอร์ล็อค” อุปกรณ์ทดสอบสำหรับตรวจหา “สัญญาณบ่งชี้ทางชีวภาพ” ในหินบนดาวอังคารติดตั้งไปด้วย

แต่เป็นอีกครั้งที่เป็นการตรวจสอบหาหลักฐานแวดล้อมว่า เคยมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารหรือไม่เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image