จีนประสบผลสำเร็จ ทดลองลงจอดบน ‘ดาวอังคาร’

โครงสร้างเพื่อจำลองแรงโน้มถ่วงดาวอังคารสำหรับการทดลองร่อนลงจอด (ภาพ-AFP)

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (ซีเอ็นเอสเอ) ประสบความสำเร็จในการทดสอบการร่อนลงบนดาวอังคารของยานสำรวจดาวอังคารที่ทาง ซีเอ็นเอสเอ พัฒนาขึ้นเพื่อเตรียมจัดส่งไปลงบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ภายในปี 2020 นี้นั่นเอง

การทดสอบดังกล่าวเป็นการทดสอบการลอยตัวและการบินเพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรค ซึ่งจัดให้มีขึ้นที่มณฑลเหอเป่ย ทางตอนเหนือของประเทศจีน ภายใต้สภาพเงื่อนไขที่จำลองขึ้นให้เหมือนกับสภาวะขณะร่อนลงบนดาวอังคาร โดยการสร้างนั่งร้านขนาดใหญ่ขึ้นมา เพื่อผูกโยงเคเบิลเหล็กกล้า สำหรับใช้เพื่อจำลองแรงโน้มถ่วงของดาวอังคาร ที่มีขนาดเท่ากับ 1 ใน 3 ของแรงโน้มถ่วงของโลก

จาง เค่อเจี้ยน แถลงต่อตัวแทนนานาชาติก่อนการทดลอง (ภาพ-AFP)

นายจาง เค่อเจี้ยน ผู้อำนวยการซีเอ็นเอสเอ ระบุว่า การทดสอบดังกล่าวนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของแผนการจัดส่งยานไปลงบนพื้นผิวของดาวอังคาร โดยสถานะของโครงการในเวลานี้ ทุกอย่างพัฒนาการไปอย่างราบรื่น

ในขณะที่ศาสตราจารย์ เจียว เว่ยซิน ศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์อวกาศและโลก ประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่งแสดงความคาดหวังในทางที่ดีต่อโครงการสำรวจดาวอังคารของจีนในปี 2020 พร้อมทั้งชี้ว่า การลอยตัวและการบินเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่ายานสำรวจนี้จะสามารถร่อนลงได้โดยสวัสดิภาพหรือไม่ เพราะหากการร่อนลงไม่ประสบผลสำเร็จ ก็เท่ากับว่า โครงการสำรวจดังกล่าวจะล้มเหลวลงทั้งหมดนั่นเอง

Advertisement

นายจาง หรงเฉียว หัวหน้าภารกิจสำรวจดาวอังคารของ ซีเอ็นเอสเอ ครั้งนี้ เปิดเผยว่า ภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีนในปี 2020 จะประกอบด้วยการส่งยานไปโคจรในวงโคจรรอบดาวเคราะห์ดวงนี้ ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางหลังจากส่งขึ้นจากพื้นโลกรวม 7 เดือน พร้อมกันนั้นก็จะส่งยานสำรวจภาคพื้นดินลงจอด โดยมียานเคลื่อนที่เพื่อการสำรวจพื้นผิว ออกลาดตระเวนสำรวจบริเวณที่ต้องการอีกด้วย

นายจางระบุว่า กระบวนการร่อนลงจอดจะกินเวลาเพียง 7 นาทีเท่านั้น แต่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดและท้าทายที่สุดเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ ทั้งหมดตลอดภารกิจนี้

ซีเอ็นเอสเอย้ำว่า ภารกิจสำรวจดาวอังคารของจีนครั้งนี้ ต้องการให้เป็นโครงการที่เปิดกว้างสำหรับนานาประเทศและสถาบันต่างๆ ที่ต้องการเข้าร่วม และได้เชื้อเชิญทูตานุทูตและผู้สื่อข่าวจากชาติต่างๆ หลายสิบคนร่วมชมการทดลองครั้งนี้ด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image