ชี้มนุษย์ต้อง “กลายพันธุ์” เพื่อการบุกเบิกในยุคอวกาศ

ภาพจากจินตนาการถึงการใช้ชีวิตบนดาวอังคารในอนาคต(ภาพ-Stefan Keller via Pixabay)

คริส เมสัน นักพันธุศาสตร์ ซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาและชีวฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัย วีลล์ คอร์เนลล์ ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 10 คนขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ซึ่งรับผิดชอบในการศึกษาวิจัย โครงการนักบินอวกาศฝาแฝด มาร์ค และ สก็อตต์ เคลลีย์ ของนาซา โดยสก็อตต์ เคลลีย์ เดินทางขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เป็นเวลานานเกือบ 1 ปี ในขณะที่มาร์ค คู่แฝด ยังคงใช้ชีวิตเป็นปกติอยู่บนพื้นโลก เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา

ด้วยการนำเอาปฏิกิริยาทางชีวภาพต่อสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของคนทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถเรียนรู้ว่าการเดินทางในอวกาศเป็นเวลานานนั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์อย่างไรและมากแค่ไหน ทีมวิจัยของเมสัน พบข้อมูลทรงคุณค่ามากมายจากการศึกษาเบื้องต้นในโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นผลกระทบเชิงพันธุกรรม

ในงานสัมมนาเชิงวิชาการด้านพันธุกรรมมนุษย์ครั้งที่ 8 ที่มหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา เมสันพร้อมทีมวิจัยจำนวนหนึ่งหยิบยกเอาผลการศึกษาวิจัยบางส่วนออกมาถกเถียงและอภิปรายกันในที่ประชุมวิชาการดังกล่าว ขณะที่อยู่ระหว่างการเขียนรายงาน 6 ชิ้นที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาคู่แฝดนี้ออกมาเผยแพร่ต่อไป

ทาร์ดิกราดา หรือ ทาร์ดิเกรดสัตว์ที่มีความสามารถในการอยู่รอดสูงสุด (ภาพ-Wipedia CC BY 2.5)

เมสันเปิดเผยว่า การศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลมากมายว่าด้วยการแสดงออกของยีนของมนุษย์ในช่วงระยะต่างๆ ของการเดินทางในอวกาศ ตั้งแต่การถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเรื่อยไปจนถึงการกลับคืนสู่โลก ซึ่งก่อสภาวะเครียดสูงมาก ข้อมูลดังกล่าวมีประโยชน์สูงมากในอนาคต สำหรับใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาหาวิธีการบรรเทาอันตรายต่อมนุษย์ในระหว่างการท่องอวกาศในอนาคต

Advertisement

จากผลการศึกษาวิจัยที่พบเห็นจากกรณีของ สก็อตต์ เคลลีย์ นั้น เมสันกล่าวว่า หากมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนมั่นใจได้ว่า ในขั้นตอนการกลับสู่โลกส่งอันตรายสูงต่อมนุษย์อวกาศ นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถพัฒนาวิธีการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นดังกล่าว หรือไม่ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันว่า ไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆ เลยก็ได้ต่อนักบินอวกาศเหล่านั้นเลยก็เป็นได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจเป็นสิ่งที่ร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องตอบสนองอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาดังกล่าว นักบินอวกาศในอนาคตอาจจำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางการแพทย์อย่างหนึ่งอย่างใด หรือด้วยเครื่องมืออื่นใด ให้สามารถบรรเทาผลกระทบจากการแผ่รังสีในห้วงอวกาศในเวลายาวนานได้ ตัวอย่างเช่นกำลังมีงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งตั้งเป้าในการศึกษาไว้ว่า การตัดแต่งพันธุกรรมของมนุษย์จะสามารถช่วยให้มนุษย์มีขีดความสามารถในการต่อต้านผลกระทบจากการแผ่รังสี ในการใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศนานๆ หรือเมื่อต้องไปใช้ชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์อื่นๆ อย่างเช่น ดาวอังคาร เป็นต้น

คริส เมสัน ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องค้นหาให้พบว่าทำอย่างไร เซลล์ในร่างกายมนุษย์จึงสามารถทนต่อผลกระทบจากการแผ่รังสีได้มากขึ้นกว่าเดิม และยังคงสภาวะสุขภาพที่ดีเอาไว้ตลอดช่วงการเดินทางในอวกาศนานๆ การตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อการนี้ มีแนวโน้มเป็นไปได้หากพิจารณาจากผลการศึกษาพื้นฐานก่อนหน้านี้ที่พบว่าเป็นวิธีที่ได้ผลในการทำให้เซลล์ที่ดีในร่างกายคนเราต่อต้านการแผ่รังสีได้ แต่ยังต้องผ่านการศึกษาค้นคว้าอีกไม่น้อย ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับความคิดของตนเองที่เชื่อว่า มนุษย์อวกาศที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ภายใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจเกิดการคิดค้น ค้นพบวิธีการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการตัดแต่งพันธุกรรมมนุษย์เพื่อให้อยู่รอดบนดาวอังคารได้ โดยการทำให้สามารถปิด-เปิดการทำงานของยีนบางตัวได้ เป็นต้น

Advertisement

คริส เมสัน ยังแสดงความเห็นด้วยว่า นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์อาจใช้ทางเลือกอีกทาง นั่นคือ การผสมผสานดีเอ็นเอของมนุษย์เข้ากับดีเอ็นเอของสัตว์ในสปีชีส์อื่นๆ ตัวอย่างเช่น “หมีน้ำ” หรือ “ทาร์ดิกราดา” สัตว์จิ๋ว ขนาด

โตเต็มที่เพียง 1.5 มิลลิเมตร ซึ่งสามารถยังชีพอยู่ได้ในสภาวะที่เป็นอันตรายสุดโต่งต่อชีวิตมนุษย์ แม้แต่

ในห้วงอวกาศที่เป็นสุญญากาศอีกด้วย การผสมผสานดังกล่าวเป็นไปเพื่อพัฒนาเซลล์ในร่างกายของคนเรามีขีดความสามารถในการต้านทานผลกระทบที่เป็นอันตรายหลากหลายรวมทั้งการแผ่รังสีได้ด้วย

คริส เมสัน เชื่อด้วยว่าการตัดแต่งต่อเติมพันธุกรรมมนุษย์นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสรีระของมนุษย์โดยธรรมชาติเองเมื่อมีความจำเป็นต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศนานๆ หรือไปใช้ชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่น เช่น ดาวอังคาร

เมสันแสดงความเชื่อมั่นไว้สูงมากว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นคำถามจึงไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ต้องถามว่ามนุษย์จะวิวัฒนาการในขั้นตอนนี้เมื่อใดเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image