เทรนด์คลาวด์ ที่ต้องจับตามองปี 2020

บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ได้เผยแพร่บทความน่าสนใจ เรื่อง “เทรนด์คลาวด์ที่ต้องจับตามองปี 2020” โดยระบุว่า ปี 2019 เป็นปีที่หลายองค์กรพบว่าแนวทาง “one-cloud-fits-all” หรือคลาวด์เดียวสำหรับทุกอย่างนั้นใช้ไม่ได้จริง เพราะองค์กรต่างๆ ล้วนต้องการความยืดหยุ่นในการประมวลผล (run) เวิร์กโหลดของตนบนแพลตฟอร์มใดก็ได้ โดยไม่ต้องเขียนทุกอย่างใหม่เมื่อเวลาผ่านไป

เมื่อต้องใช้คลาวด์หลายระบบ องค์กรจะมองหาวิธีจัดการกับข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายสภาพแวดล้อมและความซับซ้อนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ มัลติคลาวด์แบบไฮบริดจะกลายเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรหลายแห่งเลือกใช้ เพราะเป็นวิธีย้ายเวิร์กโหลดไปยังระบบคลาวด์ที่ทั้งยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และหลีกเลี่ยงการผูกขาดกับเวนเดอร์เจ้าใดเจ้าหนึ่งอีกด้วย

แนวโน้มดังกล่าวจะเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิมในปี 2020 เพราะธุรกิจในทุกภาคส่วนจะหันมาใช้กลยุทธ์มัลติคลาวด์แบบไฮบริดเพื่อให้สามารถพัฒนาและนำแอพพลิเคชั่นออกใช้งานได้ในเวลาอันสั้น ช่วยให้ธุรกิจพลิกโฉมเข้าสู่ยุคดิจิทัลเร็วขึ้น และมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้า

ในขณะเดียวกัน องค์กรก็จะหันมาใช้โซลูชั่นการเข้ารหัสและปกป้องข้อมูลที่ล้ำสมัยมากขึ้น เพื่อให้ระบบคลาวด์ขององค์กรปลอดภัยอยู่เสมอแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามอย่างในปัจจุบัน นอกจากนี้ องค์กรยังจะเปิดรับเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่าง Edge พร้อมกับเริ่มนำเครื่องมืออัตโนมัติต่างๆ มาใช้เพื่อให้สามารถจัดการดูแลอีโคซิสเต็มของระบบคลาวด์ที่สลับซับซ้อนให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น

Advertisement

สำหรับ 5 แนวโน้มที่ไอบีเอ็มคาดว่าจะได้เห็นในปี 2020 เมื่อองค์กรเดินหน้าต่อในเส้นทางของระบบคลาวด์ มีดังนี้

1.เมื่อมี 5G องค์กรจะหันมาใช้ Edge เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ไฮบริดคลาวด์มากขึ้น

เมื่อพิจารณาจากหลายๆ ด้านแล้วอาจกล่าวได้ว่า การประมวลผลข้อมูลใกล้กับจุดที่เกิดข้อมูลนั้นมากที่สุดหรือ Edge Computing คือยุคต่อไปของระบบคลาวด์ ซึ่งจะนำสู่ประโยชน์ อาทิ โรงงานสามารถบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่คาดว่าจะทำงานบกพร่องก่อนที่จะเกิดเหตุได้ ผู้ค้าปลีกจะได้รับประโยชน์จากข้อมูลแนวโน้มการซื้อสินค้าของลูกค้าที่อัพเดตเร็วขึ้น และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือก็สามารถรองรับการเล่นเกมบนมือถือและเทคโนโลยี Augmented Reality ได้

Advertisement

5G คือองค์ประกอบที่สำคัญมาก เมื่อมีองค์กรที่ต้องการใช้ Edge เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ไฮบริดคลาวด์มากขึ้น ไฮบริดคลาวด์จะยังคงทำหน้าที่เป็น Aggregation Point สำหรับข้อมูลและฟังก์ชั่น back-end ที่เกี่ยวข้องที่สุด ในขณะที่ Edge สามารถรองรับระบบวิเคราะห์และฟังก์ชั่นที่เป็นหัวใจสำคัญแบบเรียลไทม์ ณ จุดที่ข้อมูลถูกสร้างขึ้นและมีการดำเนินการกับข้อมูลนั้น

5G คือเทคโนโลยีสำคัญที่จะทำให้ Edge เป็นจริงได้ เพราะมีความเร็วสูงกว่าและมีแบนด์วิธกว้างกว่า ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการลดความหน่วงของข้อมูลให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อเครือข่ายเซลลูลาร์เริ่มเข้าสู่ยุค 5G อีโคซิสเต็มของระบบไฮบริดคลาวด์ก็จะหันมาใช้ประโยชน์จากการประมวลผลข้อมูลที่บริเวณขอบเครือข่ายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการคาดการณ์ในรายงาน Mobile Economy ของ GSMA ว่านวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมานั้นจะช่วยอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจทั่วโลกสูงถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 15 ปีข้างหน้า

2.ระบบอัตโนมัติ (Automation) จะมีบทบาทสำคัญในเฟสต่อไปของมัลติคลาวด์แบบไฮบริด

จำนวนบริษัทที่นำกลยุทธ์มัลติคลาวด์แบบไฮบริดมาใช้นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะได้ประโยชน์จากการที่สามารถย้ายแอพพลิเคชั่นธุรกิจที่สำคัญระดับ Mission-critical มายังสภาพแวดล้อมแบบใดก็ได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นระบบคลาวด์สาธารณะ คลาวด์ภายในองค์กร หรือคลาวด์ส่วนตัว จึงทำให้ไฮบริดคลาวด์กลายเป็นโอกาสทางการตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอยู่ในแผนการในอนาคตของผู้มีอำนาจตัดสินใจในด้านไอทีเกือบ 80%

อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบที่แท้จริงของสภาพแวดล้อมแบบไฮบริด ทั้งในด้านความสามารถในการรับมือต่อการถูกโจมตี ความสามารถในการปรับขยาย และการรองรับแอพพลิเคชั่น API และข้อมูลหลายประเภท กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมนี้มีความซับซ้อน

เมื่อต้องใช้คลาวด์หลายระบบ องค์กรจะต้องมองหาวิธีจัดการกับความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้จะกลายเป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของกลยุทธ์คลาวด์ขององค์กรเลยทีเดียว และในท้ายที่สุดจะทำให้เกิดเครื่องมืออัตโนมัติต่างๆ ขึ้นในปี 2020 เพื่อจัดการกับความซับซ้อนในส่วนนี้ โดยในช่วงแรกจะเป็นการนำเครื่องมือที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์มาใช้งาน

นอกจากเครื่องมือจะมีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว แดชบอร์ดที่แสดงภาพรวมการทำงานของระบบคลาวด์ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ดูแลระบบ และช่วยให้องค์กรสามารถปรับแต่งสภาพแวดล้อมของตนเพื่อจัดวางเวิร์กโหลดให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม ควบคุมค่าใช้จ่าย และจัดการกับคีย์ระบบความปลอดภัยและการเข้ารหัสอย่างมีประสิทธิภาพ

3.”ศูนย์บัญชาการ” (Command Center) ด้านความปลอดภัยจะผุดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์ไฮบริดคลาวด์

ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีประมาณ 60% มองว่าความปลอดภัยเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการเลือกผู้ให้บริการระบบคลาวด์ แต่การจัดการกับปัญหานี้ภายในสภาพแวดล้อมแบบมัลติคลาวด์ยังคงมีความซับซ้อน เนื่องจากข้อมูลกระจัดกระจายอยู่ในหลายสภาพแวดล้อม

ในปีนี้ เราคาดว่าจะเห็นเครื่องมือที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น และสามารถรับมือเมื่อเกิดเหตุได้เร็วขึ้นผ่านทางแดชบอร์ดที่ช่วยรวมการจัดการทุกอย่างไว้ในที่เดียว และการมีศูนย์บัญชาการเพียงหนึ่งเดียว หรือที่แต่เดิมเรียกว่าศูนย์ปฏิบัติการด้านความปลอดภัย (Security Operation Center หรือ SOC) นั้น จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่านี่คือพื้นที่ที่กำลังวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว

การถือกำเนิดของ DevSecOps ซึ่งผนวกรวมความปลอดภัยไว้ตั้งแต่เริ่มแรกในกระบวนการพัฒนา คืออีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าในปี 2020 เราจะได้เห็นอีโคซิสเต็มด้านความปลอดภัยที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น

4.มีการเปิดรับระบบคลาวด์เฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากภาคการเงินการธนาคาร

เมื่อองค์กรหันมาใช้ระบบคลาวด์ ก็ย่อมมองหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจนั้นได้อย่างตรงจุด และคุณสมบัติที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่มีการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด ก็คือการช่วยลดภาระในด้านการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้โดย Thomson Reuters ซึ่งพบว่าองค์กรที่ให้บริการด้านการเงินต้องจัดการกับการปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับถึง 220 เรื่องต่อวัน และมีถึง 71% ที่คาดว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป

ในปี 2019 ได้มีการเปิดตัวระบบคลาวด์สาธารณะสำหรับบริการด้านการเงินขึ้น โดย Bank of America จะใช้ระบบดังกล่าวในการโฮสต์แอพพลิเคชั่นและเวิร์กโหลดหลักๆ เพื่อให้บริการลูกค้าธนาคารจำนวน 66 ล้านราย ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันที่สำคัญ และยังเป็นแม่แบบที่เป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย

ประเด็นน่าสนใจ จากการศึกษาโดยไอบีเอ็มพบว่าในปัจจุบันมีองค์กรเพียง 40% ทั่วโลกที่มีทักษะและกลยุทธ์พร้อมสำหรับจัดการกับสภาพแวดล้อมแบบมัลติคลาวด์ และนี่ก็คือเรื่องที่ระบบคลาวด์เฉพาะด้านสำหรับแต่ละภาคธุรกิจสามารถช่วยองค์กรได้ เพราะจะทำให้องค์กรไม่ต้องวุ่นวายกับความซับซ้อนของโครงสร้างพื้นฐานและสถาปัตยกรรมระบบคลาวด์ ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ตอบแบบสำรวจล่าสุดจำนวน 61% จึงระบุว่าข้อดีที่สำคัญที่สุดของการเปิดรับบริการคลาวด์เฉพาะด้านสำหรับแต่ละภาคธุรกิจนั้นก็คือความง่ายในการจัดการและดูแลระบบนั่นเอง

5.เครื่องมือแบบโอเพ่นซอร์สจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และทำให้คูเบอร์นิทิสเป็นสิ่งที่ลูกค้าทั่วไปเข้าถึงได้เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สกำลังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบคลาวด์ ในปี 2019 องค์กรหลายแห่งได้หันมาใช้ซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์สเพื่อเพิ่มความทันสมัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร และทำให้การเปิดรับระบบมัลติคลาวด์แบบไฮบริดเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และในปี 2020 นักพัฒนาจะหันมาเน้นเรื่องเครื่องมือที่สามารถรองรับการนำแอพพลิเคชั่นออกใช้งานแบบรวดเร็ว (Rapid Deployment) ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องมีเพื่อคงความเป็นผู้นำในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

สิ่งนี้จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ Continuous Delivery ในวงกว้าง โดยที่องค์กรต่างๆ จะหันมาใช้วิธีการสร้าง ทดสอบ และนำออกใช้อย่างรวดเร็วตามหลักการ DevOps นอกจากนี้ โมเดล Continuous Delivery ก็กำลังเติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแบบ cloud-native ที่เพิ่มมากขึ้น โดยแอพพลิเคชั่นเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อนำไปใช้ผ่านทางคอนเทนเนอร์และคูเบอร์นิทิส

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้หันมาใช้คูเบอร์นิทิส และ OpenShift มากขึ้นในปี 2020 ก็จะเริ่มเปิดรับเทคโนโลยีอย่าง Red Hat Operators เข้ามาใช้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในอีโคซิสเต็มของคูเบอร์นิทิสด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image