ชี้ทางออกฝุ่นพีเอ็ม2.5 รีดภาษีควันดำ-ลงทุนงานวิจัย เผยข้อมูลฝุ่นแบบเรียลไทม์

สภาวิศวกรระดมสมองนักวิชาการ ภาครัฐ มหาวิทยาลัย แนะรัฐตระหนักฝุ่น PM2.5 ภัยพิบัติระดับชาติ พร้อมชี้ทางออก 3 ด้านหลัก คือ ด้านกฎหมาย โดยการเก็บภาษีรถยนต์ปล่อยควันดำ ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์รุ่นเก่าเป็น EURO 5-6 พร้อมจำกัดปริมาณรถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านงานวิจัยที่รัฐควรลงทุนกับการพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่น เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีที่มีราคาสูง และด้านการวางระบบผังเมืองใหม่ เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนเมือง ชงเอกชนร่วมแสดงผลข้อมูลปริมาณฝุ่น ผ่านจอโฆษณา LED แบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ งานเสวนา ?รวมพลังปัญญา แก้ปัญหา ฝุ่นพิษ? จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานกรรมการบริหารสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 นับเป็นภัยพิบัติระดับชาติ ที่ภาครัฐ เอกชน ประชาชน ต้องตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยที่ภาครัฐจะต้องยกระดับปัญหาฝุ่นเป็นภัยพิบัติของประเทศ ต้องเอาจริงในการสร้างมาตรการแก้ไขปัญหา ทั้งด้านกฎหมาย โดยการเก็บภาษีรถยนต์ปล่อยควันดำ พร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ รุ่นเก่าจาก EURO 4 เป็น EURO 5-6 รวมถึงจำกัดปริมาณรถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านงานวิจัยที่รัฐควรลงทุนกับการพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่น เช่น ป้ายรถเมล์อัจฉริยะจาก สจล. เครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก จาก สวทช. ฯลฯ เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีที่มีราคาสูง และด้านการวางระบบผังเมืองใหม่ ที่เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากปัจจุบัน 2-3 ตร.ม.ต่อคน เพิ่มเป็นอย่างน้อย 9-10 ตร.ม.ต่อคน

ขณะที่ภาคเอกชนควรให้ความร่วมมือในการแสดงผลข้อมูลปริมาณฝุ่น ผ่านจอโฆษณา LED แบบเรียลไทม์ และภาคประชาชนควรตระหนักถึงผลกระทบถึงฝุ่น PM2.5 ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงถึงชีวิตของทั้งตนเอง รวมถึงบุคคลในครอบครัว ดังนั้น จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนอยู่เสมอ พร้อมทั้งเลือกสรรนวัตกรรมป้องกันฝุ่น หรือติดตามการรายงานผลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากทั้งภาครัฐและเอกชน

ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร และอดีตกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 ถือเป็นภัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเมือง และเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งพบว่า 91% มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อาศัยอยู่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง-น้อย ขณะที่ปี 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาดังกล่าว ถึง 4.2 ล้านคน ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรยกระดับมาตรฐานฝุ่นที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (วัดเฉลี่ย 24 ชม.) แต่ในปัจจุบันประเทศไทย พบมีค่าฝุ่นสูงถึง 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเสนอแนวทางการแก้ไขมหันตภัยฝุ่น PM2.5 ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดถึงต้นตอ ดังนั้น ประเทศไทยควรยกระดับมาตรฐานรถยูโร 4 สู่มาตรฐาน EURO 5-6 ควบคู่กับการปรับค่ามาตรฐานน้ำมันเพื่อสามารถใช้งานกับเครื่องยนต์ EURO 5-6 โดยขั้นแรกควรส่งเสริมการใช้รถยนต์ EURO 5 นำร่องก่อน ซึ่งพบว่าภายในปี 2564 มีรถยนต์ขนาดเล็กเป็นเครื่องยนต์ EURO 5 มาใช้ในประเทศไทย ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าว จะช่วยลดปริมาณรถยนต์รุ่นเก่า ทั้งจากรถขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ รถบรรทุก และรถยนต์ส่วนบุคคล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดของไทยด้านการผลิตหน้ากากอนามัยที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทาง สวทช. จึงได้พัฒนา ?เครื่องกรองฝุ่น ด้วยเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต? เพื่อลดปริมาณการเกิดฝุ่นพิษ โดยที่ทุกชิ้นส่วนสามารถผลิตได้ภายในไทย และสามารถนำไปติดตามสถานที่ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สยามดิสคัฟเวอรี่ และตึกแมกโนเรีย นอกจากนี้ ในต่างประเทศยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างเช่น ?ประเทศจีน? ที่ได้สร้างหอฟอกอากาศสูง 80 เมตร โดยใช้แผ่นกรองและใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทั้งหมด ผ่านการทำงานพัดลมร้อนเป่าฝุ่น PM2.5 เมื่อเกิดหอฟอกช่วยทำให้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เกิดขึ้น สำหรับประเทศไทยควรนำโมเดลดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อพัฒนาทั้งอสังหาฯ และส่งเสริมการท่องเที่ยว

โดยที่ผ่านมา สวทช.ได้ร่วมกับบริษัท ยูนิ-ชาร์ม (ประเทศไทย) พัฒนาหน้ากากอนามัย เป็นหน้ากากอนามัยกรองฝุ่น PM2.5 และเครื่องวัดฝุ่นแบบกระเจิงแสงขนาดจิ๋ว (My Air) ที่พกพาสะดวก มีความแม่นยำสูง และประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ ยังเตรียมดำเนินการวิจัยและพัฒนา ?ลูกบอลดับเพลิง? ขนาด 5-10 กิโลกรัม ที่ใช้ติดตั้งกับโดรนเพื่อทำหน้าที่ดับเพลิงไฟป่า

ด้าน ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เสนอ 2 แนวทางสำคัญเพื่อลดมลภาวะฝุ่น คือ 1.รถยนต์ปลอดควันดำ โดยปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานไฟฟ้า และ 2.เกษตรปลอดการเผา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ฯลฯ ประสานงานร่วมกับภาคการศึกษาเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้พร้อมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร เพื่อลดการเผาที่ก่อให้เกิดฝุ่น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่นนั้น ยังคงเกิดจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลกว่า 70-80% โดยเฉพาะรถบรรทุกกว่า 140,000 คัน รถโดยสารสาธารณะของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ขสมก.) กว่า 10,000 คัน และรถโดยสารไม่ประจำทางอีก 30,000 คัน รวมถึงการเผาในที่โล่งแจ้ง จากแหล่งกำเนิดในสถานที่ต่างๆ ทั้งภาคเหนือ และกลาง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก PM 2.5 ที่สร้างผลกระทบด้านสุขภาพปอดคนไทยแล้ว ยังมีภัยเงียบอย่าง ?ก๊าซโอโซน? (O3) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานกำหนดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งกระทบหนักกับเนื้อเยี่ออ่อน เมื่อสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก เช่น เนื้อเยื่อในตาและหลอดลม ขณะที่ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้มาจากแหล่งอากาศจากกรุงเทพอย่างเดียว

ดร.เจน ชาญณรงค์ หนึ่งในผู้ที่พยายามช่วยแก้ปัญหา PM2.5 ในนามของชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ที่รวบรวมผู้มีความรู้สาขาต่างๆ มาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นผ่านเพจ ฝ่าฝุ่น (www.facebook.com/farfoon.th) กล่าวถึงปัญหาหลักของการเผาไฟในภาคการเกษตรนั้นเกิดจาก ?ปัญหาปากท้อง? ของประชาชน โดยพื้นที่ที่มีการเผาป่ามากที่สุดพบในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น จังหวัดตาก ลำพูน ลำปาง โดยที่ผ่านมา ตนและทีมได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ผ่านการน้อมนำศาสตร์พระราชาอย่าง ?หลักเศรษฐกิจพอเพียง? มาปรับใช้ เช่น การปรับปรุงระบบชลประทาน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้สำหรับการเกษตร อุปโภค-บริโภค ส่งเสริมการปลูกพืชแทน เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่าพร้อมสร้างความยั่งยืน ถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนในโรงเรียน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเผาป่า ฯลฯ

รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้พัฒนา ?ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ? นวัตกรรมตรวจวัดและเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบเรียลไทม์ ณ ป้ายรถเมล์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ที่มาพร้อมความสามารถในการตรวจจับปริมาณฝุ่น สั่งการพัดลมโคจรติดเพดานช่วยระบายฝุ่น พร้อมแสดงผลปริมาณฝุ่นและเฉดสีผ่านจอมอนิเตอร์ โดยล่าสุด สจล. ยังได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ดำเนินติดตั้งนวัตกรรมดังกล่าว ในพื้นที่ 9 จุดเสี่ยงที่พบปริมาณฝุ่นสะสมหนาแน่น ได้แก่ บางซื่อ บางเขน บางกะปิ มีนบุรี ดินแดง พระโขนง ภาษีเจริญ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และบางคอแหลม เพื่อเป็นการบรรเทาฝุ่นและสร้างการเข้าถึงข้อมูลฝุ่นแบบเรียลไทม์ในภาคประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image