ทำไมวัคซีน”โควิด-19″ ถึงได้ช้ากว่าที่คิด?

(ภาพ-NIAID-RML)

องค์การอนามัยโลกยืนยันเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า วัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดสร้างความหวั่นวิตกให้กับหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ กว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จ พร้อมสำหรับนำมาใช้เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดได้ก็ต้องใช้เวลาอีก 18 เดือน แม้ว่า นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจะร่วมมือกันผลักดันแล้วก็ตามที

คำถามก็คือ ทำไม วัคซีนถึงจำเป็นต้องใช้เวลานานขนาดนั้น ไม่มีหนทางใดๆ สำหรับลัดขั้นตอน ประหยัดเวลาเพื่อให้พัฒนาแล้วเสร็จโดยเร็วได้เลยหรือ?

ร็อบ เกรนเฟลล์ ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงทางชีวภาพและสุขภาพ ประจำองค์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (ซีเอสไออาร์โอ) ซึ่งเป็นองค์การวิจัยที่สำคัญที่สุด ใหญ่โตและทันสมัยที่สุดของออสเตรเลีย กับ เทรเวอร์ ดรูว์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสุขอนามัยในสัตว์แห่งออสเตรเลีย (เอเอเอชแอล) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานสังกัด ซีเอสไออาร์โอ เช่นเดียวกัน ช่วยกันอธิบายถึงขั้นตอนและความยุ่งยากในการพัฒนาวัคซีนเอาไว้อย่างน่าสนใจ เพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไม วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับมนุษย์นั้น ถึงได้ช้ากว่าที่ทุกคนคาดคิดกันมากนัก

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา วัคซีนสำหรับป้องกันโรคระบาดโรคใดโรคหนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 2-5 ปีจึงพัฒนาได้แล้วเสร็จ แต่ในกรณีการระบาดอย่างหนักที่คุกคามทั้งต่อชีวิตโดยตรง และต่อสภาวะเศรษฐกิจของทั้งโลกอย่างเช่นในเวลานี้ นักวิจัยจากทั่วโลกประกาศความร่วมมือซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถช่วยย่นระยะเวลาในการพัฒนาวัคซีนลงได้มากมาย

Advertisement

แต่ก็ไม่สามารถทำได้รวดเร็วอย่างที่ใจหลายคนคิด ประมาณการขององค์การอนามัยโลก ที่ 18 เดือนนั้น หากเป็นจริงก็เท่ากับเป็นการทำสถิติใหม่ของการพัฒนาวัคซีนได้เลยทีเดียว

เหตุผลสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ทำให้การร่วมมือกันในระดับโลกคือสิ่งที่จำเป็นก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า แม้ในปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่สามารถมีสถาบันหนึ่งสถาบันใด มีศักยภาพของบุคลากรและสถานที่ซึ่งสามารถผลิตวัคซีนได้เพียงลำพัง

ในขณะเดียวกัน กระบวนการในการพัฒนาวัคซีนนั้น มีขั้นตอนมากมายกว่าที่หลายคนคิดและอยากให้เป็นมากนัก

Advertisement

ขั้นตอนแรกสุด และสำคัญที่สุด ก็คือ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจบุคลิกลักษณะทั้งหลาย รวมถึงพฤติกรรมของไวรัสให้ได้อย่างถ่องแท้ ว่า ลักษณะและพฤติกรรมของมันในตัวสัตว์ที่มันเข้าไปอาศัยอยู่นั้นเป็นอย่างไร

เพื่อให้ได้องค์ความรู้ดังกล่าวนี้ เราจำเป็นต้องสร้าง “สัตว์ต้นแบบที่มีเชื้อ” อยู่ในตัวเหล่านั้นขึ้นมาเป็น “โมเดล” ในการศึกษาวิจัย

ในกรณีของซาร์สก่อนหน้านี้ สัตว์ต้นแบบก็คือตัวเฟอร์เร็ท ซึ่งคล้ายกับพังพอน และ ชะมด (ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่มนุษย์)

ขั้นตอนถัดมาก็คือ การทดลองจนแน่ใจได้ว่า สิ่งที่จะเป็นวัคซีนของเรานั้น “มีความปลอดภัย” เพียงพอ และในขณะเดียวกันก็สามารถกระตุ้นให้ส่วนของร่างกายที่ถูกต้องสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา โดยต้องไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้รับความเสียหายจาก “วัคซีน” ในอนาคตที่ว่านี้

นั่นหมายความว่า สิ่งที่จะใช้เป็นวัคซีนของมนุษย์นั้นจะมี “ประสิทธิภาพ” ในการป้องกันเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้อง “ปลอดภัย” สำหรับร่างกายมนุษย์พร้อมกันไปด้วย

เมื่อ “คิดว่า” ได้สิ่งที่จะใช้เป็นวัคซีนดังกล่าวแล้ว ก็เริ่มขั้นตอนต่อไป นั่นคือ การทดลองใช้งานในสัตว์ทดลอง (พรี-คลินิคัล เทสติง) ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ “สัตว์ต้นแบบ” ที่เราใช้ในการศึกษาลักษณะและพฤติกรรมของไวรัสนั่นเอง

หากสิ่งที่คาดว่าจะเป็นวัคซีน ผ่านการทดสอบในขั้นตอนนี้ไปได้ คือ ทั้งมีประสิทธิภาพและทั้งปลอดภัยในสัตว์ต้นแบบแล้ว ข้อมูลทั้งหมดก็สามารถกระจายไปให้สถาบันศึกษาวิจัยอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการนำเอาวัคซีนดังกล่าวไปทดลองในมนุษย์ได้

ในกรณีของ โควิด-19 ใครจะเป็นผู้ทดลองวัคซีนในมนุษย์ และจะทดลองกันที่ไหน ยังไม่มีการตัดสินใจ

แต่โดยทั่วไปแล้ว สถานที่ทดลองวัคซีนที่ดีที่สุด ก็ควรจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เกิดการระบาดขึ้นในปัจจุบันนั่นเอง

สุดท้าย หากพบว่าวัคซีนดังกล่าวปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดี ก็จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนเพื่อขออนุญาตใช้ตามขั้นตอน ในเวลาเดียวกันก็จำเป็นต้องมีการกำหนดขั้นตอนสำหรับการผลิตที่เอื้อต่อการผลิตในต้นทุนต่ำที่สุด

เมื่อนั้นกระบวนการผลิตเพื่อส่งมอบวัคซีนถึงจะเกิดขึ้นได้

ถามว่าตอนนี้วัคซีน โควิด-19 อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว? คำตอบก็คือ เรายังคงอยู่ในขั้นตอนของการหาสัตว์ต้นแบบสำหรับศึกษาวิจัยลักษณะและพฤติกรรมของไวรัสเท่านั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอนมาก

ถัดจากนั้น วัคซีนโควิด-19 จะรุดหน้าไปได้เร็วมาก เนื่องจากที่ผ่านมาวิวัฒนาการด้านนี้ก้าวหน้าไปมากมาย

แต่ก็ยังมีอีกปัญหาที่สำคัญที่ต้องเผชิญ นั่นคือต้องให้แน่ใจว่า วัคซีนจะสามารถได้ผลอยู่ต่อไป หากเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส

ซึ่งทำให้ถึงที่สุดแล้ว เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ระบาด เพื่อให้ได้ไวรัสล่าสุดมาใช้ในการปรับปรุงวัคซีน เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ผลนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image