พบอีก 6 โคโรนาไวรัส รอเวลาแพร่ระบาดสู่คน!?

ค้างคาวเพดานใหญ่ (ภาพ-http://biodiversity.forest.go.th)

ทีมนักวิจัยภายใต้การสนับสนุนทางการเงินของ “พรีดิคท์ โปรแกรม” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อการเฝ้าระวังภัยคุกคามจากการแพร่ระบาดอุบัติใหม่ ของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด นำทีมโดย นายแพทย์ มาร์ค วาลิทุตโต แพทย์ด้านอายุรศาสตร์สัตว์ป่า ผู้เชี่ยวชาญชีวิตป่าในภูมิภาคเอเชียจากสถาบันสมิธโซเนียน เดินทางเข้าไปสำรวจ เก็บตัวอย่างจากค้างคาวหลายสายพันธุ์ ในถ้ำที่ประเทศพม่า ในช่วงระหว่างปี 2016 เรื่อยมาจนถึงปี 2018

หลังจากนำตัวอย่างที่เป็นมูลค้างคาว และตัวอย่างจากน้ำลายของค้างคาวกลับมาตรวจสอบ พบเชื้อโคโรนาไวรัสใหม่ที่เป็นสายพันธุ์ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อนถึง 6 สายพันธุ์ อยู่ในค้างคาว 3 ชนิดที่สำรวจ

โคโรนาไวรัสที่ตรวจสอบพบนี้ คือ ไวรัสในวงศ์ (แฟมิลี่) เดียวกันกับ ซาร์ส-โคฟ-2 ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่ระบาดออกไปทั่วทุกมุมโลกในเวลานี้

สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ค้างคาวทั้ง 3 สายพันธุ์ เป็นค้างคาวท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ไม่เพียงแต่ในเมียนมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทยด้วยอีกต่างหาก

Advertisement

การเฝ้าระวังการแพร่ระบาด

ทีมวิจัยค้นพบโคโรนาไวรัสใหม่นี้ระหว่างการสำรวจค้างคาวในประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นงานภาคสนามส่วนหนึ่งของโครงการพรีดิคท์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสำรวจ และบ่งชี้เชื้อไวรัสที่มีขีดความสามารถและมีความเป็นไปได้ที่จะ “กระโดด” จากสัตว์มาสู่มนุษย์

ค้างคาว เป็นสัตว์เป้าหมายอันดับหนึ่ง เนื่องจากมันไม่เพียงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นที่อยู่อาศัยของไวรัสร้ายแรงที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ยังไม่ถูกค้นพบมากมายนับพันนับหมื่นชนิด (สายพันธุ์) อยู่ในตัวเท่านั้น

Advertisement

ที่ผ่านมายังปรากฏว่าค้างคาวเป็นต้นตอของไวรัสที่ก่อโรคระบาดร้ายแรงหลายครั้ง ทั้งโรคซาร์ส โรคเมอร์ส เช่นเดียวกัน ซาร์ส-โคฟ-2 ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่เชื่อกันว่า เริ่มต้นมาจากในค้างคาว ก่อนที่จะแพร่ผ่านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งคาดกันว่าเป็นแพงโกลิน แล้วจึงแพร่ออกมาสู่คนระบาดออกไปเป็นวงกว้างอยู่ในเวลานี้

ทีมวิจัยใช้วิธีการสำรวจทั้งการจับค้างคาวตัวอย่างมาเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำลายจากปาก และเก็บตัวอย่างจากมูลค้างคาวจำนวน 759 ตัวอย่าง จากค้างคาวแตก 464 ตัว แยกเป็นค้างคาว 8 สกุล (จีนัส) รวม 11 ชนิด (สปีชีส์) หรือสายพันธุ์จาก 3 แหล่งในเมียนมา คือพื้นที่ทางตอนเหนือของนครย่างกุ้ง บริเวณใกล้กับ วนอุทยานฮลอก่า, พื้นที่ ฮปา-อัน ในรัฐคะหยิ่น และ พื้นที่ ส่วยโบ ในเขตสกาย

การเก็บตัวอย่าง ยังแยกออกเป็น 2 ช่วงเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ คือเก็บตัวอย่างทั้งในหน้าแล้ง และในหน้ามรสุมเพื่อเปรียบเทียบปริมาณและจำนวนของเชื้อไวรัสอีกด้วย

พื้นที่ซึ่งเลือกเก็บตัวอย่างนี้ ถือว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า เนื่องจากการขยายพื้นที่อยู่อาศัยเข้าไปใกล้เขตป่า และมีโอกาสสูงที่จะมีมนุษย์เข้าไปสัมผัสหรือติดเชื้อมาเนื่องจากกิจกรรมหลายๆ อย่าง รวมทั้งการหาของป่า การเก็บมูลค้างคาวมาทำปุ๋ย เป็นต้น

“พื้นที่เก็บตัวอย่าง 2 แหล่งในจำนวน 3 แหล่ง เป็นพื้นที่ภูเขาซึ่งมีระบบถ้ำที่มีชื่อเสียง ซึ่งผู้คนมักเข้ามาสัมผัสกับค้าวคาวอยู่เป็นประจำเพื่อเก็บมูลค้างคาว หรือไม่ก็เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกด้วย” รายงานผลการศึกษาวิจัยซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการพลอสวัน เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมาระบุ

ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (ภาพ-http://biodiversity.forest.go.th)

ไวรัสใหม่6ชนิด ในค้างคาว3สายพันธุ์

ตัวอย่างที่เก็บได้ถูกบรรจุไว้ในหลอดตัวอย่างและนำกลับมาศึกษาผ่านกระบวนการจำแนกพันธุกรรมในสหรัฐ อเมริกา จำแนกเป็นตัวอย่างที่เก็บในหน้าแล้ง 461 ตัวอย่าง และที่เก็บในหน้าฝนอีก 298 ตัวอย่าง

ผลจากการตรวจสอบพบพันธุกรรมไวรัสทั้งหมด 54 สายพันธุ์ เกาะกลุ่มกันอยู่ใน จีโนไทป์หรือลักษณะทางพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส 7 ชนิด เมื่อนำมาเทียบเคียงกับสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาในคลังสายพันธุ์แล้ว หลงเหลือไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่ 7 สายพันธุ์ด้วยกัน แต่หนึ่งในจำนวนนั้น เพิ่งมีรายงานการตรวจพบในค้างคาวที่เวียดนามและกัมพูชา เมื่อปี 2017 จึงตัดออกไป หลงเหลือเพียงเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 6 ชนิด พบในค้างคาว 3 สายพันธุ์ด้วยกัน

ไวรัสโคโรนาที่ตรวจสอบพบนี้ แยกออกเป็น 2 สกุล (จีนัส) เป็นสกุลอัลฟา โคโรนาไวรัส 3 สายพันธุ์ และเป็นสกุล เบตา อีก 3 สายพันธุ์

(ไวรัสโคโรนาจำแนกตามสกุลได้ 4 สกุลด้วยกัน คือ อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา ใน 4 สกุลนี้พบว่า อัลฟา ก่อโรคระบบทางเดินหายใจในคนได้ แต่อาการไม่รุนแรง หรือติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจรุนแรง อย่างเช่น ซาร์ส-โคฟ หรือ เมอร์ส-โคฟ ล้วนเป็น เบตาโคโรนาไวรัสทั้งสิ้น โคโรนาไวรัสยังเป็นไวรัสที่มีอาร์เอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมแบบสายเดี่ยว ซึ่งทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย หรือมีโอกาสกลายพันธุ์สูง)

ทีมวิจัยใช้ชื่อไวรัสใหม่ที่ค้นพบนี้เป็นหมายเลข โดยในตัวอย่างจากค้างคาวเพดานใหญ่ (Greater Asiatic yellow house bat ชื่อวิทยาศาสตร์ Scotophilus heathii) พบเชื้อ “พรีดิคท์-โคฟ-90” ซึ่งเป็นเชื้ออัลฟาโคโรนาไวรัส

ในตัวอย่างจากค้างคาวปากย่น (wrinkle-lipped free-tailed bat ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Chaerephon plicatus) พบเชื้อ “พรีดิคท์-โคฟ-47” และ “พรีดิคท์-โคฟ-82” ซึ่งเป็นอัลฟาโคโรนาไวรัสทั้ง 2 ชนิด

ในตัวอย่างจาก ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (Horsfield’s leaf-nosed bat ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Hipposideros larvatus) พบว่า มีเบต้าโคโรนาไวรัสอยู่ในตัวถึง 3 สายพันธุ์ คือ “พรีดิคท์-โคฟ-92”, “พรีดิคท์-โคฟ-93” และ “พรีดิคท์-โคฟ-96”

ค้างคาวปากย่น(ภาพ-http://www.bio.bris.ac.uk/)

ศึกษาวิจัยสายพันธุ์เป้าหมาย

ทีมวิจัยยังระบุไว้ด้วยว่า พันธุกรรมของโคโรนาไวรัสที่พบใหม่ทั้ง 6 ชนิดนี้ ไม่มีสายพันธุ์ใดมีพันธุกรรมที่มีความเชื่อมโยงหรือใกล้เคียงกับไวรัส ซาร์ส-โคฟ, เมอร์ส-โคฟ หรือซารส์-โคฟ-2 แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การที่พบเชื้อในมูลค้างคาวในปริมาณสูง แตกต่างจากในตัวอย่างที่เก็บจากน้ำลายที่ต่ำกว่ามาก ทำให้เป็นไปได้ว่า มูลค้างคาวน่าจะเป็นวิธีการในการแพร่เชื้อออกไปที่สำคัญที่สุด

นอกจากนั้น ทีมวิจัยยังเชื่อว่า การที่พบเชื้อไวรัสในตัวค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ (เอช.ลาวาร์ตัส) มากมายและเป็นเบต้าโคโรนาไวรัสทั้งสิ้นอีกด้วย ทำให้ค้างคาวชนิดนี้ควรเป็นสายพันธุ์เป้าหมายในการศึกษาวิจัยต่อเนื่องให้กว้างขวางต่อไป

ซูซาน เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการ โกลบอลเฮลธ์ โปรแกรมของ สมิธโซเนียน เตือนเอาไว้ว่า โคโรนาไวรัสหลายๆ ชนิดอาจไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อคนโดยตรง แต่การที่สามารถบ่งชี้และศึกษาเชื้อโรคเหล่านี้ตั้งแต่ยังอยู่ในตัวสัตว์ได้ ในแหล่งที่มาเริ่มต้นได้ ก็ถือเป็นโอกาสทรงคุณค่าที่จะสอบสวนให้ถ่องแท้ว่า เชื้อเหล่านี้มีศักยภาพในการเป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ได้หรือไม่

“การเฝ้าระวัง, วิจัยและศึกษาอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดเท่าที่เรามี ในการป้องกันการระบาดก่อนที่มันจะเกิดขึ้นมา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image