แมวมีไว้ทำไม? โดย ประชา สุวีรานนท์

แมวมีไว้ทำไม? โดย ประชา สุวีรานนท์

แมวมีไว้ทำไม?

“How Your Cat Is Making You Crazy” ของ แคทรีน แมคอุลลิฟ (Kathleen McAuliffe) เป็นบทความเกี่ยวกับแมว

โดยบอกว่าสัตว์เลี้ยงยอดนิยมชนิดนี้มีปรสิตชนิดหนึ่งที่เข้าไปเกาะอยู่ในสมองและเปลี่ยนระบบประสาทของคนเลี้ยง และเป็นสาเหตุของพฤติกรรมแปลกๆ เช่น เก็บตัวมากขึ้น หรือเที่ยวนอกบ้านมากขึ้น

หนักกว่านั้นคือป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น bipolar หรือ schizophrenia

หนักสุดอาจจะทำให้รถคว่ำและฆ่าตัวตาย

Advertisement

แมวกะปรสิต

มีผู้อ่านมากมาย บางคนบอกว่าเป็นที่สองในประวัติศาสตร์อันยาวนานของ The Atlantic Monthly และทำให้นิตยสารเล่มนี้ go viral ในทันที และเป็นบทหนึ่งในหนังสือ THIS IS YOUR BRAIN ON PARASITES : How Tiny Creatures Manipulate Our Behavior and Shape Society ซึ่งเป็นการล้อเลียนโฆษณาต้านยาเสพติดที่ดังมากในสมัยก่อน (THIS IS YOUR BRAIN ON DRUGS.)

บางคนบอกว่าหนังสือเล่มนี้เทียบได้กับ Guns, Germs and Steel ของ Jared Diamond คือนอกจากจะมีการวิจัยอย่างเป็นระบบแล้ว ยังสวนทางกับความเชื่อเก่าด้วย

Advertisement

ผู้เขียนศึกษาวิทยาศาสตร์ในเชิงวัฒนธรรม เช่นบอกว่า เพราะปรสิตและสิ่งน่าขยะแขยงต่างๆ นั้นเป็นที่รังเกียจมาแต่ดึกดำบรรพ์ ต่อมาจึงขยายออกไปเป็นความเกลียดชังในเชิงศีลธรรม การเมือง และกฎหมาย

เริ่มจากเรื่องของ จารอสลาฟ เฟลกเกอร์ (Jaroslav Flegr) นักวิทยาศาสตร์ชาวเช็ค ผู้เชื่อว่าปรสิตในแมวสามารถไชสมองคน และสร้างผลมากมายเช่น ป่วย เปลี่ยนนิสัย ไปจนถึงฆ่าตัวตาย คล้ายกับปรสิตในสุนัข หรือที่เรียกว่าพิษสุนัขบ้า ซึ่งนอกจากทำให้สัตว์เป็นบ้าแล้ว ยังสามารถอพยพจากสมองไปสู่น้ำลาย และเมื่อไปกัดใครเข้า ก็จะได้ย้ายบ้านในทันที

เฟลกเกอร์เริ่มสนใจปรสิตชนิดนี้เพราะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาอ่านเจอเรื่องนี้ในหนังสือของ ริชาร์ด ดอว์กินส์ เกี่ยวกับพยาธิตัวแบนที่สามารถใช้มดเป็นทาส ด้วยการควบคุมระบบประสาทของมด

ในปี ค.ศ.1990 ได้เข้าสอนในคณะชีววิทยาของมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ที่กรุงปราก ซึ่งเก่าแก่และเป็นที่หนึ่งในเรื่องปรสิตชื่อ Toxoplasma gondii (T. gondii หรือ Toxo) เขาจึงมีโอกาสศึกษามันมากขึ้น

นอกจากแมวแล้ว มันอาจจะอยู่ในรูหนู และซ่อนตัวอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของสัตว์

สำหรับมนุษย์ อาจจะติดเพราะจับจานอาหารแมว ดื่มน้ำที่มีอึแมว กินผักที่ไม่ได้ล้าง หรือสเต็กที่ไม่สุก ที่สำคัญ ปรสิตจะอยากกลับไปอยู่กับแมว ซึ่งเป็นที่เดียวที่มันสามารถสืบพันธุ์ได้ ตรงนี้แหละที่ทำให้มันเริ่มบงการมนุษย์

หนูที่มีปรสิตจะแลดูแข็งแรงและไม่ค่อยกลัวศัตรู ลักษณะนี้ทำให้มันตกเป็นเหยื่อของแมวได้ง่ายขึ้น ส่วนจะมีผลต่อคนหรือไม่นั้น ยังไม่รู้ เพราะเป็นผู้ให้อาศัยโดยบังเอิญ ตามปกติ มนุษย์จะไม่อยู่ใน life cycle ของมัน

แต่เฟลกเกอร์ก็เชื่อว่าเพราะมียีนคล้ายกัน มนุษย์ก็อาจจะถูกมันควบคุมได้

ในยุคนั้น การทดลองแพงเกินไป แต่โชคดีที่กว่า 30-40% ของชาวเช็คเป็นโรคนี้ เขาจึงใช้นักเรียนหลายคนเป็นหนูทดลอง เริ่มจากใส่เชื้อนี้เข้าไปในคนแล้วดูว่าจะมีผลต่อประสาทและเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปล่า

เขาพบว่าผลที่มีต่อแต่ละเพศไม่เหมือนกัน ผู้ชายจะเก็บตัว หวาดระแวง และเฉยเมยต่อความเห็นของคนอื่นมากขึ้น ในขณะที่ผู้หญิงจะตรงกันข้าม คือเปิดเผย ชอบเที่ยว รักสวยรักงาม และฝืนกฎเกณฑ์ต่างๆ มากขึ้น

มีการถามความคิดเห็นต่างๆ เพื่อค้นหาว่ามีนิสัยขี้ระแวงแค่ไหน นอกจากนั้น ยังขอให้ดื่มน้ำโดยไม่บอกว่าเป็นน้ำอะไร ได้ผลที่เหมือนกัน นั่นคือ เทียบกับคนที่ไม่มีปรสิต ผู้ชายชอบสวมเสื้อผ้าเก่าๆ ผู้หญิงชอบสวมเสื้อผ้าใหม่ๆ บางคนชอบใส่เสื้อผ้าแพงๆ

ผู้ชายมีเพื่อนน้อย แต่ผู้หญิงมีเพื่อนมาก ในเรื่องเครื่องดื่มลึกลับ ผู้ชายจะลังเลมาก เช่น ถามอยู่นั่นว่ามันมีอันตรายหรือเปล่า แต่ผู้หญิงไม่มีปัญหาเลย บอกให้ทำอะไรก็ทำ

นอกจากนั้นยังมีเรื่องปฏิกิริยา เขาพบว่าปรสิตทำให้คนครุ่นคิดมากขึ้นและช้าลง ซึ่งแปลว่าอาจจะส่งผลต่อการขับรถยนต์ ผลคือคนกลุ่มนี้จะพบอุบัติเหตุมากว่ากลุ่มที่ไม่มีถึง 2.5 เท่า

จุดเด่นของบทความนี้คือบรรยากาศของเช็คในยุคคอมมิวนิสต์ และตัวของเฟลกเกอร์เอง ซึ่งแม้จะเกลียดรัฐบาล แต่ก็เก็บตัวและไม่เปิดปากกับใคร บุคลิกที่เยือกเย็น ไม่ตกใจหรือสะทกสะท้านกับอะไรง่าย จะปรากฏชัดตอนที่มีการยิงกันหน้าที่ทำงานในตุรกี ซึ่งเขาไม่กลัวเลย

บทความจะกลับมาตรงนี้อีกครั้ง เมื่อมีคำถามว่านิสัยนี้เกิดขึ้นเพราะปรสิตหรือเปล่า

นอกจากนั้น แมคอุลลิฟ ผู้เขียนบทความก็เป็นคนเลี้ยงแมว ระหว่างที่เขียน เธอเริ่มสงสัยว่าปรสิตชนิดนี้กำลังแผลงฤทธิ์กับตัวเอง เช่น ทำให้พูดถึงเรื่องนี้ไม่หยุด ทั้งๆ ที่ไม่มีเวลาและแม้กับคนแปลกหน้า เธอเริ่มมีอารมณ์ขึ้น-ลง และชอบใส่เสื้อผ้าแพงๆ สุดท้ายก็อดคิดไม่ได้ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าปรสิตแบบไหนกำลังควบคุมเรา?

นอกจากจะมีประโยชน์สำหรับคนรักแมว บทความนี้อาจจะเหมาะกับคนทั่วไป เพราะคำถามว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? มักจะมีคำตอบแบบ “ข้ออ้าง” มากมาย : เรามาถึงจุดนี้เพราะเศรษฐกิจ เรามาถึงจุดนี้เพราะชนชั้นกลาง เรามาถึงจุดนี้ระบบศักดินา เรามาถึงจุดนี้เพราะยีน เรามาถึงจุดนี้เพราะอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

บทความนี้ทำให้มีข้ออ้างเพิ่มขึ้น : เรามาถึงจุดนี้เพราะแมว (และปรสิต)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image