ขยายแบนด์วิดธ์เพื่อสังคมดิจิทัลที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการศึกษาด้าน ICT สำหรับผู้หญิง

ขยายแบนด์วิดธ์เพื่อสังคมดิจิทัลที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการศึกษาด้าน ICT สำหรับผู้หญิง

โดย กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และอัตสึโกะ โอคุดะ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ

ศุภกานต์ จันทาวัง มีแผนไว้ในใจแล้ว หลังจากที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการคิดเชิงออกแบบ นักเรียนหญิงจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชุมพรคนนี้จึงอยากทำงานร่วมกับสภานักเรียนของโรงเรียนและผู้ขายอาหารในบริเวณใกล้เคียงเพื่อแก้ปัญหาขยะเศษอาหาร สำหรับเธอแล้ว การศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) นั้นเป็นมากกว่าแค่เรื่องข้อข้อมูลและตัวเลข เพราะการคิดเชิงออกแบบทำให้เธอได้พัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเธอมองว่ามีประโยชน์ต่อการพิชิตความฝันที่จะเป็นแพทย์ของเธอ

ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับ ICT มีความสำคัญในชีวิตเกือบทุกด้านของผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรื่องงานหรือการเรียน แต่ยังรวมถึงกิจกรรมในชุมชนและชีวิตส่วนตัวด้วย แต่ทว่าสำหรับเด็กหญิงและผู้หญิง รวมถึงผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ ผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทและผู้สูงอายุนั้น โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาและการฝึกทักษะอย่างเท่าเทียมยังคงมีอยู่จำกัด

การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นรากฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปัจจุบัน ผู้กำหนดนโยบายและนักการศึกษาในประเทศไทย และที่สำคัญที่สุดคือเด็กหญิงและหญิงสาวเองก็เริ่มที่จะเห็นความสำคัญของ ICT และการศึกษาด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) มากขึ้น อีกทั้งยังตระหนักด้วยว่าตนเองนั้นมีความสามารถและศักยภาพที่เต็มเปี่ยมและเท่าเทียมกับผู้ชาย

Advertisement

“คนทุกเพศมีสิทธิเท่าเทียมกัน ผู้หญิงทุกคนมีความสามารถและศักยภาพด้าน ICT ไม่ด้อยไปกว่าผู้ชาย” จิดาภา นิติวีระกุลนักศึกษาจากจังหวัดชลบุรี กล่าว “ในฐานะที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงและผู้พิการของประเทศไทย ดิฉันมีความหวังที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น แบ่งปันแนวคิดที่เป็นประโยชน์ และช่วยสร้างความแตกต่างค่ะ” จิดาภาเริ่มเรียนเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ (เขียนโค้ด) เมื่อเทอมที่แล้วและมีความสนใจด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นพิเศษ

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจากสหประชาชาติได้ร่วมจัดงาน International Girls in ICT Day Thailand 2021 เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่มาจากเพศสภาพ สนับสนุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีและการฝึกทักษะ และส่งเสริมให้เด็กหญิงและหญิงสาวมีโอกาสประกอบอาชีพในสาขา STEM สำหรับประเทศไทย ความคิดริเริ่มนี้ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และพันธมิตรในภาคเอกชน

โควิด 19 ได้เผยให้เราเห็นอย่างชัดเจนถึงความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการเชื่อมต่อและการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล แต่ “การมี” และ “การไม่มี” สิ่งเหล่านั้นยังกระทบต่อความสามารถของประชาชนในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการหาเลี้ยงชีพและคุณภาพชีวิต ในประเทศไทย อัตราการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั้นค่อนข้างสูง เนื่องจากคนส่วนใหญ่สามารถเข้าสู่โลก

Advertisement

ออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ และเกือบร้อยละ 95 ของโรงเรียนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็มีคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนโดยเฉลี่ย 1 เครื่องต่อนักเรียน 17 คน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก ITU ระบุว่ามีประชากรไทยเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่มีทักษะ “พื้นฐาน” ด้าน ICT เช่น การดาวน์โหลดและติดตั้งซอฟต์แวร์ และหากมองในระดับอาเซียน รายงานที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia) ระบุว่าปัจจัยหลักที่นำไปสู่ช่องว่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในการเข้าถึงเศรษฐกิจแบบดิจิทัลนั้นไม่ใช่เรื่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่เป็นองค์ประกอบที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น ทักษะ โอกาสในการเป็นผู้ประกอบการ และการประกอบอาชีพ STEM

วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ได้ผนวกเอาความเท่าเทียมทางเพศไว้ในแกนกลาง ผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อที่ 5 และยังเป็นเป้าหมายที่สัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยมุ่งที่จะผลักดันประเทศให้หลุดออกจากกับดักของการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และสร้างเศรษฐกิจสีเขียวแบบหมุนเวียน (Biio-circular Green Economy) ที่มีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเสริมพลังให้กับผู้หญิง

ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่โดดเด่น ในแง่ที่เด็กหญิงและผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีกว่าเด็กชายและผู้ชาย โดยมีอัตราการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกือบจะเท่ากัน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การมีส่วนร่วมและการมีสิทธิ์มีเสียงอย่างเท่าเทียมกันในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แม้ว่าในช่วงนี้ความต่างของค่าแรงระหว่างเพศจะลดลง แต่ก็ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 10.9 ตามข้อมูลล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

โครงการ International Girls in ICT Day ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ การเกษตรอัจฉริยะ และปัญญาประดิษฐ์ ผู้เข้าร่วมจะได้รับโอกาสในการแบ่งปันแรงบันดาลใจในด้านต่าง ๆ เช่น ธุรกิจออนไลน์ การตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ การท่องเที่ยวและบริการ การรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การศึกษาเรื่อง “การทำแผนที่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในโรงเรียน : การศึกษาของประเทศไทย” โดย ITU พบว่าในปัจจุบัน ร้อยละ 97 ของเด็กไทยอายุ 16 ถึง 19 ปีใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ แต่มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่ใช้สำหรับอีเลิร์นนิง ข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งต่อการกำหนดนโยบายที่อิงหลักฐานเพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม โดยคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำในด้านสำคัญ เช่น ความรุนแรงต่อผู้หญิงและทักษะด้าน ICT

ถึงแม้ต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งที่เราได้เห็นคือความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นจากหลายภาคส่วนของสังคมในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการตระหนักว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กหญิงและผู้หญิงนั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อเราทุกคน นอกจากนี้อุตสาหกรรม ICT ที่กำลังเติบโตก็มีโอกาสที่มากขึ้นและหลากหลายสำหรับเด็กหญิงและหญิงสาวที่มีทักษะสูง ซึ่งยังคงมีบทบาทน้อยในการศึกษาและอาชีพด้าน ICT และ STEM หากมองในอีกมุมหนึ่ง การหยุดชะงักทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากการ

ระบาดใหญ่ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาวะและการดำรงชีวิต ณ ตอนนี้ คือโอกาสของเราในการสร้างโลกที่มีความเท่าเทียมและยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิม

กีต้า ซับบระวาล เป็นผู้ประสานงานของสหประชาชาติประจำประเทศไทย และอัตสึโกะ โอคุดะ เป็นผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image