กูรูระดับโลกชี้ 3 เมกะเทรนด์พลิกโฉมอี-เลิร์นนิ่งยุคโซเชียลครองโลก

กูรูระดับโลกชี้ 3 เมกะเทรนด์พลิกโฉมอี-เลิร์นนิ่งยุคโซเชียลครองโลก

จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลให้เกิดวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ที่มีการนิยามว่าวิถีความไม่ปกติใหม่ (New Normal) พร้อมความท้าทายใหม่ๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจรวมทั้งในกลุ่มการเรียนการสอน โดยมีเทคโนโลยีเป็น “ตัวขับเคลื่อน” ซึ่งมีกูรูด้านอี-เลิร์นนิ่งระดับโลก ได้มาแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองจากการเข้าไปมีส่วนร่วมส่งเสริม และช่วยปฏิวัติรูปแบบการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ ในหลายประเทศ ให้สามารถเกาะติดเทรนด์ความก้าวหน้าของการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ได้แก่ เกมออนไลน์แบบผู้เล่นหลายคน (massive multiplayer online gaming) เทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานร่วมกัน (collaborative technologies) และการเรียนทางไกลผ่านจอทั้งแบบเรียนตามตารางสอน หรือผู้เรียนเลือกช่วงเวลาเองได้ เป็นต้น

ศ.ดร.เคิร์ท บองก์ (Prof. Curt Bonk) ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาและเทคโนโลยี แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา กูรูด้านอี-เลิร์นนิ่งระดับโลก และประธาน CourseShare.com กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ Technology Today, Technology Tomorrow: Learning Evolutions อาจนำไปสู่การปฏิวัติการเรียนรู้? ผ่านเวทีสัมมนา BIDC2021 ว่า ในยุคแพร่ระบาดโควิดปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการจัดการเรียนการสอน ได้กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดมากขึ้น เพราะรูปแบบการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนสถานที่จากในห้องเรียน เป็นการเรียนทางไกล อย่างไรก็ตาม อยากให้ข้อสังเกตว่า เรื่องการเรียนการสอนทางไกล (Remote Teaching) ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่จะเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤติใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์โลก อย่างเช่น ภาวะโรคระบาด ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเข้ามาเป็นตัวช่วยสำหรับนักเรียนยุคนี้ที่ต้องมีทักษะดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาเรียกว่า Digital student โดยทำให้สามารถเรียนรู้ได้ทางดิจิทัล และจากโลกในความเป็นจริง การเรียนรู้มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย เปิดกว้างมากขึ้น มีความเป็นสากล เป็นการมีส่วนร่วม มีความเป็น social มากขึ้น ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามหัวข้อที่สนใจได้จากออนไลน์

Advertisement

นอกจากนี้กูรูอี-เลิร์นนิ่งระดับโลก ยังคาดการณ์ถึง 3 เมกะเทรนด์ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิวัติการเรียนการสอนต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับจากนี้ เพื่อตอบรับเทรนด์การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยีสำหรับการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Learning Engagement 2.เทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงอย่างทั่วถึง (Pervasive Access)และ 3.เทคโนโลยีสำหรับการปรับให้เป็นส่วนตัวและปรับแต่งการเรียนรู้ (Customization) โดยเมกะเทรนด์ข้อแรกเรื่อง การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาท ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง ใช้เกมเข้ามาเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ (game-based) สร้างประสบการณ์ผ่านเทคโนโลยีเสมือน อย่างเช่น AI, AR, VR มีการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ดิจิทัลมากขึ้น เช่น แท็บเล็ต ผลสัมฤทธิ์ที่ตามมาก็คือ สร้างให้เกิดการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ แม้ไม่ได้นั่งเรียนอยู่ในสถานที่จริง

ขณะที่ เทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงอย่างทั่วถึง เริ่มเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงการจัดให้มีการเรียนการสอนจากแหล่งความรู้(ทางออนไลน์)แบบเปิดและฟรี ผู้เรียนจากที่ต่างๆ เรียนพร้อมๆ กันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ถือเป็นเมกะเทรนด์ที่เปิดประตูแห่งโลกการศึกษาให้ “กลุ่มผู้ด้อยโอกาส” สามารถเข้าถึงความรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงกับคนทั่วโลกได้ อีกทั้งมีแหล่งความรู้ทางเลือกอื่นๆ ได้แก่ ข่าวออนไลน์ สารานุกรมในรูปแบบวิดีโอออนไลน์ (Videopedia) เป็นต้น โดยในข้อนี้ ภาครัฐสามารถเข้าไปสนับสนุนได้ ผ่านการจัดให้มีบริการบรอดแบนด์สาธารณะราคาถูกหรือฟรี ให้บริการตามชุมชน

และเมกะเทรนด์ข้อสุดท้ายคือ คัสโตเมเซชั่น ที่อาจเรียกได้ว่ามี “ผู้เรียน” เป็นศูนย์กลาง จะเริ่มเห็นวิธีจัดการเรียนการสอนที่เป็นส่วนผสมระหว่างออนไลน์/ออฟไลน์มากขึ้นเรือยๆ และนำไปสู่การประเมินการเรียนรู้ในรูปแบบผสมด้วยเช่นกัน หัวใจสำคัญในเรื่องนี้คือ ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน เด็กได้รับโอกาสมากขึ้นในการกำหนดจุดประสงค์ของตัวเอง เลือกคอร์สที่เรียนแล้วมีความสุข

Advertisement

ทั้งนี้จากกรณีศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อปีก่อน ทำให้เด็กต้องเรียนอยู่ที่บ้าน และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นบ้างแล้วในบางพื้นที่ ปรากฎว่าหลายครอบครัวเริ่มไม่อยากให้ลูกกลับไปห้องเรียน เพราะเด็กมีความสุขกับการเรียนทางออนไลน์ และมีผลการเรียนดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่า อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนยุคใหม่ที่เป็นรูปแบบผสม (Hybrid) ลดสัดส่วนการเรียนแบบออฟไลน์ และไปเพิ่มเป็นออนไลน์มากขึ้น


โดยทั้ง 3 เมกะเทรนด์ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ดังนั้นต้องตีโจทย์ให้ออกว่า จะมีวิธีการผสมผสานกันอย่างไร อีกทั้งความท้าทายสำคัญคือ เทคโนโลยีอี-เลิร์นนิ่ง ต้องสร้างให้เกิดความมีส่วนร่วมมากขึ้น ให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น นี่คือส่วนสำคัญที่ผลักดันการเรียนรู้ เครื่องมือมีแยะ แต่ทำอย่างไรให้ทั้ง 3 ข้อทำงานด้วยกัน และสร้างให้เกิดการเรียนรู้ที่ทรงพลัง

“การเรียนรู้เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน มีความเป็นทางการน้อยลง ผู้เรียนสามารถหาความรู้ได้จากวิกิพีเดีย วิดีโอการเรียนการสอนที่เผยแพร่อยู่บนออนไลน์ โอกาสเข้าถึงการเรียนมากขึ้นผ่านระบบหลักสูตรออนไลน์ที่ให้เข้าเรียนได้ฟรี (MOOC : Massive Open Online Courseware) ดังนั้น ผู้สอนต้องไม่ “ตกขบวน” การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมทั้งในฟากของการสอน และฟากของการเรียนรู้” ศจ.เคิร์ทกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image