มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดรายชื่อ น.ศ.ผู้ชนะการประกวด Innovation for Campus Sustainability 2021

มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดรายชื่อนักศึกษาผู้ชนะการประกวด Innovation for Campus Sustainability 2021

หลังจากมหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ได้เปิดตัว นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Mahidol Eco University and Sustainability Policy ภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มี 17 เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : 17 SDGs) เพื่อตั้งเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างเต็มภาคภูมิผ่านยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2563 – 2566 ไปแล้วนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ต่อยอดโครงการเพื่อส่งเสริมนโยบายฯ ตามแผนในทันที โดยเริ่มจากการดึงนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยที่นับเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมมาร่วมออกแบบนวัตกรรมที่จะพัฒนาสังคมโลกให้เป็นที่ที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนมากขึ้น ภายใต้การประกวด “Innovation for Campus Sustainability 2021: SDG Smart Action นวัตกรรมสร้างได้”

Innovation for Campus Sustainability 2021: SDG Smart Action นวัตกรรมสร้างได้ เป็นการประกวดสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในการประลองความรู้ความสามารถผ่านการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี โปรแกรมซอฟต์แวร์ หรือกิจกรรมกลุ่ม ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการลดมลพิษสิ่งแวดล้อมและเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เพื่อเป็นอีกแรงสนับสนุนในการผลักดันมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

การประกวดได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยหลังจากรับสมัครก็ได้มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) นำเสนอแนวคิด ปรับปรุงผลงาน และได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ จนคัดเลือกเหลือ 4 ทีมสุดท้ายผู้เป็นเจ้าของผลงานสุดยอดนวัตกรรมที่มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกพิจารณาผลงานในทุกขั้นตอนจะพิจารณาจากความสมดุลใน 3 มิติที่เป็นหลักการสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่

1.) มิติการเติบโตสู่องค์กรที่ยั่งยืน คือ มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ หรือเมื่อใช้งานนวัตกรรมแล้วสามารถลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายได้

Advertisement

2.) มิติการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยส่งเสริมความรู้ สมรรถนะ ผลิตภาพ หรือสนับสนุนให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพและเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

3.) มิติการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน โดยจะต้องเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

โดยทีมผู้ชนะเลิศการประกวด Innovation for Campus Sustainability 2021: SDG Smart Action นวัตกรรมสร้างได้ ได้แก่ ทีม EGG E EGG EGG โดย นางสาวอิ่มบุญ วิรัชศิลป์ และนายพศวัต เสนาะคำ เจ้าของผลงาน Salaya Egg (ไข่ศาลายา) ไข่ปลอดโซเดียมที่มีเนื้อสัมผัสเฉพาะเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตและโรคหัวใจ รวมถึงชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล นวัตกรรม Salaya Egg จะมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด การผลิตนวัตกรรมจะต้องมีต้นทุนต่ำด้วยการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ลดการใช้โซเดียม ใช้กระบวนการผลิตที่สะอาด เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่ชอบได้อย่างปลอดภัย ถูกต้องตามหลักโภชนาการ รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ ไปจนถึงประโยชน์ในวงกว้างนั่นก็คือการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนให้กับชุมชน สร้างสังคมแห่งการช่วยเหลือแบ่งปัน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถดูแลสุขภาพของคนในสังคมได้จริง

Advertisement

“อยากฝากทุกๆ คนถึงการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เราสามารถเริ่มได้จากสิ่งรอบตัวที่สามารถต่อยอดได้ ขอให้ผลงานของเราเป็นแรงบันดาลใจที่จะส่งต่อการพัฒนาและการให้อย่างไม่สิ้นสุด” นางสาวอิ่มบุญ และนายพศวัต ได้กล่าวถึงหนึ่งในความตั้งใจหลักที่ตัดสินใจเข้าประกวดในโครงการนี้

ทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Nab Omi โดย นายวิทวัส สุดทวี นายพิจักษณ์ อารยาวิชานนท์ และนางสาวณจรีย์ จันทร์เจิดศักดิ์ เจ้าของผลงานแอพพลิเคชัน Khong Klang (ของขลัง) แอพพลิเคชั่นเพื่อการแลกเปลี่ยนและซื้อขายสิ่งของที่เป็นการรวมตัวกันของการเป็นแอพพลิเคชั่น E-commerceเเละหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นไปที่ความสะดวกสบาย เข้าถึงได้ง่ายเเละมีความ

ปลอดภัยสูง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมและสร้างช่องทางการซื้อขายสินค้าภายในองค์กร หรือชุมชน ทำให้เกิดการส่งต่อสินค้าคุณภาพในราคาที่ย่อมเยาเเละลดการเกิดขยะภายในองค์กรและชุมชนนั้นๆ

ทีมรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม SIRIMONG3KOL โดยนางสาวอรญา ศรีเจริญวรรณ นายศุภกฤต ตาลน้อย และนางสาวนภัสมนต์ ศรีนครา เจ้าของผลงานแอปพลิเคชัน SIRIMONGKOL (ศิริมงคล) แอพพลิเคชั่นที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาแบบวัดเสมือนจริง ซึ่งประกอบด้วยฟีเจอร์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบทความแบบข้อความหรือแบบเสียง ช่องทางการทำบุญ และอีกมากมาย เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้หันมาดูแลเยียวยาจิตใจของตนเองไปพร้อมกับการพัฒนาทางจิตวิญญาณที่สอดแทรกสาระดีๆ ทางพุทธศาสนาที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน โดยมีลักษณะของการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นในการเสริมสร้างความยั่งยืนในสังคม

ทีมรางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม Eco Vision โดยนางสาวซอนย่า แยปปิเน่น เจ้าของผลงาน Green Rooftop ที่จะช่วยจัดการและลดปัญหาของความร้อนในเขตพื้นที่เมืองใหญ่โดยช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ผลงานนี้ยังมุ่งเน้นการส่งสาส์นสู่สังคมเพื่อการตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านมลภาวะและปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง (Urban Heat Island) และเข้าร่วมการปรับเปลี่ยนดาดฟ้าให้เป็น Green Rooftop ร่วมกันอีกด้วย

มหาวิทยาลัยมหิดลมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการประกวดนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นอกจากจะส่งเสริมนโยบายดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเวทีสำหรับให้นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยผู้ชนะการประกวดในเวทีนี้ทั้ง 4 ทีมจะได้รับเงินรางวัลพร้อมใบประกาศนียบัตร อีกทั้งผลงานจะถูกนำไปถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้บนเวทีระดับนานาชาติต่อไปอีกด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image