นอกลู่ในทาง : นักรบดิจิทัล

วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี เวลาผ่านไปเร็วมาก ตอนโน้นเพิ่งเรียนจบเริ่มต้นชีวิตการทำงานได้ไม่นานจึงไม่ค่อยรู้สึกรู้สาอะไรนัก ด้วยว่าดำรงสถานะเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ไม่ใช่ “ผู้ประสบเหตุโดยตรง”

สถาบันการเงิน บริษัทห้างร้านต่างๆ บ้างปิดกิจการ บ้างเลย์ออฟพนักงาน ธุรกิจสื่อก็ไม่มีข้อยกเว้น จำได้ว่ากิจกรรม “เปิดท้ายขายของ” เกิดขึ้นมากช่วงนั้นเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวเพื่อนพี่น้องที่ต้องออกจากงาน

19 ปีผ่านไป เหมือนหนังม้วนเดิมวนกลับมา สภาพเศรษฐกิจอาจมีส่วนอยู่บ้าง เป็น “ตัวเร่งปฏิกิริยา” แต่ไม่น่าจะใช่สาเหตุหลัก มากเท่ากับอิทธิพลของสื่อดิจิทัล และพฤติกรรมผู้บริโภค (หมู่มาก) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

จำนวนคนใช้มือถือในประเทศไทยไปไกลกว่าจำนวนประชากรในประเทศมาก ถ้ารวมเฉพาะฐานลูกค้าของ 3 ค่ายมือถือ “เอไอเอส-ดีแทค-ทรูมูฟเอช” ณ ไตรมาส 2/2559 จะมีรวมกันราว 85 ล้านเลขหมาย

Advertisement

เช่นกันกับจำนวนคนใช้ “เฟซบุ๊ก” ก็เติบโตมากที่สุด และเร็วที่สุดด้วย ด้วยจำนวนผู้ใช้ปัจจุบัน มากกว่า 41 ล้านบัญชี

ล่าสุด “เฟซบุ๊ก” เพิ่งแต่งตั้งผู้บริหารประจำประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่า “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมประเทศที่มีการเติบโตมากที่สุด และเร็วที่สุดสำหรับเฟซบุ๊ก และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตดังกล่าว”

ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2559 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ “สพธอ.” เปิดเผยว่า คนไทยใช้อินเตอร์เน็ต 6.4 ชั่งโมงต่อวัน หรือ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 5.7 ชั่วโมงต่อวัน

Advertisement

“สมาร์ทโฟน” เป็นช่องทางที่ใช้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากที่สุด 85.5% รองลงไปเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 62% และโน้ตบุ๊ก 48.7%

โดยช่วงเวลาที่มีการใช้งานมากที่สุด ได้แก่ เวลา 16.01-20.00 น. (76.6%) สูสีกับช่วงเวลา 08.01-12.00 น. (76%) ถัดมาเป็นช่วงเวลา 12.01-16.00 น. (75.2%) และ 20.01-24.00 น. ที่ 70.3%

กลุ่ม Gen Y (เกิดช่วงปี 2524-2543) เป็นกลุ่มที่โตมากับคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีไอที เป็นช่วงอายุที่มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตมากที่สุด รวมถึงกลุ่มเพศที่สามด้วย อยู่ที่ 53.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 7.6 ชั่วโมงต่อวัน และ 48.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามลำดับ

90.5% ใช้ผ่านสมาร์ทโฟน

ถามว่า คน Gen Y นี้ใช้อินเตอร์เน็ตทำอะไรบ้าง

มากสุดถึง 98% ใช้พูดคุยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (โซเชียลเน็ตเวิร์ก) ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และแอพพลิเคชั่นแชต “ไลน์” รองลงมา 93.3% เพื่อดูวิดีโอออนไลน์บนยูทูบ

85.1% ใช้เพื่อรับและส่งอีเมล์

84.5% ใช้ค้นข้อมูล

และ 82% อ่านอีบุ๊ก

นั่นทำให้สินค้าและบริการต่างๆ หันไปใช้จ่ายเงินผ่านสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาก

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในปี 2559 นี้ น่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 9,883 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 22% เทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่สื่ออื่นๆ ติดลบที่ประมาณ 8%

โดยในครึ่งปีแรก มีการใช้จ่ายเงินผ่านสื่อดิจิทัลไปแล้ว เป็นเงิน 4,732 ล้านบาท และคาดว่าในครึ่งปีหลังจะมากกว่าครึ่งปีแรก

สัดส่วนของเม็ดเงินที่มาลงในสื่อดิจิทัลในปีนี้จะมีสัดส่วนประมาณ 8% ของงบโฆษณาโดยรวมทั้งหมด และคาดอีกว่า ในปีหน้ามีโอกาสไปถึง 10% หรือมีมูลค่าทะลุหนึ่งหมื่นล้านบาทแน่นอน

หลากหลายปัจจัย ทั้งสภาพเศรษฐกิจ พัฒนา

การของเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัว และเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อก้าวให้ทันโลกดิจิทัล

ธุรกิจสื่อก็ด้วย โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ถึงเวลาต้องปรับตัว “โกดิจิทัล” กันขนานใหญ่

แม้ว่า “ปลา” ในมหาสมุทรดิจิทัล ทั้งขนาด และจำนวนจะมีไม่มากพอ หรือเพราะเรายัง “จับ” ไม่เป็นก็แล้วแต่ ทุกสิ่งสามารถเรียนรู้ และพัฒนาได้ (แต่จะทันการณ์หรือไม่เป็นอีกเรื่อง)

นึกถึงคำกล่าวของบิ๊กกลุ่มทรู “ศุภชัย เจียรวนนท์” ที่บอกว่า “ถ้าคุณมัวแต่ใช้เรือแจว คนอื่นติดเครื่องยนต์ คุณก็จะตามเขาไม่ทัน”

สมัยทำงานใหม่ๆ เคยมีการ Rotation ระหว่างโต๊ะข่าว ให้นักข่าวเปลี่ยนสายงาน เช่น เคยดูแลข่าวโต๊ะการเงินก็ให้ย้ายไปอยู่โต๊ะไอที โดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้งานในส่วนอื่นๆ เพื่อเพิ่มทักษะ และความรอบรู้

จากที่เคยนั่งตกปลาอยู่ริ่มตลิ่งสบายๆ ถึงเวลาต้องกระโจนลงเรือออกไปหาปลาในทะเล ย่อมไม่ง่าย และไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ ในระหว่างทาง บ้างอาจเมาคลื่น บ้างอาจโดนพายุซัดตกทะเล

ไม่มีใครรู้

“จะกลัวการเปลี่ยนแปลงไปทำไม ในเมื่ออะไรๆ ก็ต้องเปลี่ยนไปเสมอ”

ถ้าคิดว่าดี มันก็ดี คิดว่าไม่ดี ก็ (จะ)ไม่ดี ไม่ว่าจะกับเรื่องอะไร “ในดีมีเสีย ในเสีย (ย่อม) มีดีได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับมุมมอง”

คิดบวกก็บวก คิดลบก็ลบ การคิดบวกไม่ใช่เพื่อหาคำตอบว่า อะไรถูกหรือผิด แต่เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังเป็นไป

ระหว่างคิดว่า “การเอามือปืนไปจับปลา มีแต่เปลืองกระสุนเปล่าๆ” หรือคิดว่า “เป็นนักรบต้องรบได้ทุกสนาม”

คุณเลือกได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image