‘ศรษฐพงค์’ ชี้อินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมมาแรง-พลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แนะ ‘กสทช.-ดีอีเอส’ เร่งศึกษาเตรียมพร้อม-กำกับดูแล ไม่ให้ประเทศเสียโอกาส ลดเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร การโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงสถานการณ์ของภาคธุรกิจดาวเทียมว่า จากนี้ผู้คนจะได้เห็นการเริ่มต้นของการปฏิวัติดาวเทียมครั้งใหม่จากบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศ อย่างเช่น SpaceX และ OneWeb ภายในปี 2021 โดยกิจการอวกาศใหม่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย โดยเฉพาะตลาดอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ เนื่องจากในปี 2019 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้ประมาณการว่าอัตราการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตต่อจำนวนประชากรโลกอยู่ที่ 51.4% โดยมีช่องว่างทางดิจิทัลหรือความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ระหว่างเมืองและชนบทกำลังเพิ่มขึ้น ประชากรร้อยละ 37 ของผู้อาศัยในเขตชนบทสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่บ้านได้ ในขณะที่ประชากรประมาณร้อยละ 72 ของผู้อาศัยในเขตเมืองสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่บ้านได้ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าประชากรที่อาศัยในพื้นที่ชนบทเกือบสองเท่า ดังนั้น หนึ่งในเป้าหมายของผู้ให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมก็คือเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัลของผู้อาศัยในเขตเมืองและเขตชนบท
พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีโครงการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) มากกว่า 10 โครงการ ซึ่งโครงการที่มีข้อได้เปรียบคือ Starlink ของ SpaceX เนื่องจากมีดาวเทียมที่ใช้งานอยู่มากกว่า 1,500 ดวง Starlink จึงเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในวงโคจรต่ำ นอกจากนี้ Starlink ยังมีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดมากกว่าบรอดแบนด์คงที่ในหลายๆ ประเทศ เช่น แคนาดา เยอรมนี นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร และผู้ประกอบการอีกหลายรายกำลังเตรียมที่จะเปิดตัวโครงการกลุ่มดาวเทียมใหม่ การบริการโทรศัพท์ด้วยเสียงผ่านดาวเทียมจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างพลิกโฉม เมื่อเริ่มมีกลุ่มดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรจำนวนมากขึ้น ทำให้บทบาทของผู้ให้บริการดาวเทียมขยายตัวกลายไปเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีข่าวว่า Apple ผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนชั้นนำ จะนำคุณสมบัติการสนับสนุนการเชื่อมต่อดาวเทียม LEO มาใช้กับ iPhone รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถโทรออกได้โดยไม่ต้องใช้สัญญาณจากเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ใช้สัญญาณผ่านดาวเทียมแทน ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวจะมีความสำคัญสำหรับผู้ให้บริการดาวเทียมอย่างมาก ซึ่งผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือชั้นนำรายอื่นๆ ก็อาจจะต้องนำคุณลักษณะนี้มาไว้ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ของตนเองอย่างแน่นอน
“เราต้องเริ่มที่จะศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ ให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ต้องเข้ามามีส่วนในการศึกษาเตรียมพร้อม ทั้งในส่วนการนำมาใช้งาน งานเกี่ยวกับการกำกับดูแลเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการโอกาสในภาคธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เกิดประโยชน์พี่น้องประชาชน รวมถึงการพัฒนาประเทศ การลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีระหว่างคนเมืองและคนชนบท เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถกระจายไปยังทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเราพัฒนาไปได้อย่างกว้างขวาง น่าจะถือเป็นเรื่องดีอย่างมากกับพื้นฐานต่างๆ ในประเทศไทย” พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าว