การรีแบรนด์จาก “เฟซบุ๊ก” สู่ “เมต้า” ขอต้อนรับสู่โลก “เมตาเวิร์ส”

การรีแบรนด์จาก “เฟซบุ๊ก” สู่ “เมต้า” ขอต้อนรับสู่โลก “เมตาเวิร์ส”

หลังจากเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฟซบุ๊ก ประกาศรีแบรนด์ “เฟซบุ๊ก” (Facebook) เป็น บริษัท เมต้า (Meta) เพื่อเปิดจักรวาลสู่โลกเสมือนจริง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เมตาเวิร์ส” (Metaverse)

ก็เรียกเสียงฮือฮาจากทุกแวดวงอุตสาหกรรม ในความพยายามเปลี่ยนโลกจริงสู่โลกเสมือนจริงของนายมาร์ค ที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ระบุไว้ว่า จะเป็นการมอบประสบการณ์ในการใช้โซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์ไปในรูปแบบไฮบริด ขยายไปสู่รูปแบบที่เป็น 3 มิติ หรือมีการแสดงภาพสู่โลกแห่งความจริง

คุณแพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย ได้เปิดให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับเรื่องเมตาเวิร์ส นี้ เอาไว้ว่า ตั้งแต่การประกาศเปิดตัวของ “เมต้า” ภายใต้ชื่อใหม่ของบริษัท ก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเมตาเวิร์สสู่การใช้งานชีวิตจริง ที่จะทำให้บริษัท เมต้า บรรลุพันธกิจในการทำให้ทุกคนได้เชื่อมต่อกัน และผลักดันให้ธุรกิจเติบโตขึ้นไปอีก

คุณแพร ได้บอกถึงความหมายของเมตาเวิร์ส เอาไว้ว่า ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้มีจุดเปลี่ยนบนโลกเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร ส่งข้อความ ทั้งส่งรูป หรือวิดีโอ จากเดิม ที่ส่งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ส่งจากเครื่องสมาร์ทโฟนแทน

Advertisement

เมตาเวิร์ส จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่จะมาทรานส์ฟอร์มโลกของเรา และเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของโซเชียล ซึ่งเวลาที่เราอยู่ในเมตาเวิร์ส เราจะสามารถแสดงออกสื่อสารได้เหมือนว่า เราอยู่ในที่เดียวกัน เหมือนอยู่ในห้องเดียวกัน มองตากันได้ จะเป็นความรู้สึกที่ต่างจากทุกวันนี้ ที่เป็นกล้องที่ถ่ายแบบสองมิติในตอนนี้
โดยสองปีที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้พวกเราไม่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัวหรือกับเพื่อนได้เหมือนปกติ เมตาเวิร์ส จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ทำให้เหมือนเราได้เจอกันในชีวิตจริง

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาช่วงข้ามคืน แต่จะต้องใช้เวลา และจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกๆคน

คุณแพร ได้ยกตัวอย่างเช่น วงการการศึกษา หากนำเมตาเวิร์สมาใช้ นักเรียนก็จะสามารถศึกษาในสิ่งที่สนใจได้ โดยไม่มีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องสถานที่ แทนที่จะดูวิดีโอประวัติศาสตร์อียิปต์ เราก็ใช้เมตาเวิร์ส ทำให้สามารถดูได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรืองานต่างๆ ก็สามารถนำเมตาเวิร์สไปใช้ได้

Advertisement

“เราเป็นบริษัทด้านโซเชียล เทคโนโลยี สร้างสรรค์เทคโนโลยีด้วยเป้าหมายหลักคือให้ทุกคนใกล้ชิดกันมากขึ้น สร้างพื้นที่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใดๆ เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน สร้าง พัฒนาคอร์โปรดักต์ชัดเจน” คุณแพรกล่าว

คุณแพร บอกว่า สำหรับการสร้างเมตาเวิร์ส อย่างมีความรับผิดชอบ มี 4 ด้านด้วยกัน 1. คือการทำงานเกี่ยวกับเมเจอร์โซเชียล ประเด็นเรื่องความปลอดภัย การรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ 2.คือการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ สำหรับคนที่ใช้งานบนแพลตฟอร์มของเรา โดยนำเทคโนโลยีมาใช้งาน 3.ช่วยเหลือภาคธรุกิจทั่วโลก ในการขยายธุรกิจ และ 4.อยากเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสังคมที่ดี เพราะเราคิดว่า การที่อยู่ในประสบการณ์ที่เป็นเวอร์ช่วล จะช่วยก้าวข้ามข้อจำกัดด้านกายภาพต่างๆได้

คุณแพรบอกว่า เมตาเวิร์สนั้น จะมีผู้เล่นและผู้สร้างที่หลากหลาย เพื่อให้เกิด 1.โอกาสทางธุรกิจ 2.เรื่องความเป็นส่วนตัว 3.เรื่องความปลอดภัย และ4.เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกัน

โดยบริษัท เมต้า ลงทุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เป็นเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการ และลงทุนด้านความปลอดภัยของผู้ใช้งานอีกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คุณแพร เชื่อว่า เมตาเวิร์ส จะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และจะมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมในอนาคต และจะได้เห็นการนำเมตาเวิร์สมาใช้ในหลายๆที่ ทั้งแวดวงการศึกษา สุขภาพ เกม และสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุด คือยูสเคนของการช้อปปิ้ง โดยเมตาเวิร์ส จะสร้างดิจิตอลอีโคโนมี สร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน เป็นอาชีพที่ตอนนี้เราอาจไม่เคยเห็นเลย แต่จะเกิดขึ้นได้เห็นในอนาคต

คุณแพรเชื่อว่า การเข้าสู่เมตาเวิร์ส ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เพราะปัจจุบัน การส่งข้อความบนแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชีย เราเป็นผู้นำเสมอ และหลายธุรกิจก็เปิดรับทั้ง เออาร์ และวีอาร์ เปิดรับโลกเสมือนจริงกันมากขึ้น และตอนนี้ก็มีหลายธุรกิจที่เริ่มลงมาเล่นตรงนี้แล้ว

สำหรับโอกาสของประเทศไทยนั้น ก็ต้องบอกว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา เราสามารถเข้าไปลองใช้ได้แบบสองมิติ และสิ่งที่สร้างขึ้นมาคือ “สะพาน” ที่จะเชื่อมจากโลก 2 มิติ เป็น 3 มิติ ซึ่งการเชื่อมต่อนี้ จะทำให้มีความเสมือนจริงมากขึ้น

อย่างร้านค้าออนไลน์ ในอนาคต ก็จะเหมือนเราเดินเข้าไปสัมผัสกับสินค้าได้ เหมือนเข้าไปซื้อสินค้าจริงๆ โดยไม่ต้องออกจากบ้าน

สำหรับ 5 เทรนด์สำคัญ ที่จะเกิดขึ้นในเมตาเวิร์ส คือ 1. เทคโนโลยีเออาร์ วีอาร์ ที่นำมาทำในหลายกิจกรรมมากขึ้น 2.แมสเสจจิ้ง ที่มีการใช้เพื่อส่งข้อความ ซื้อขายของ ด้านธุรกิจต่างๆ

3.ประสบการณ์ในการช้อปออนไลน์ ที่มากขึ้น สำหรับเมตาเวิร์ส 4.ครีเอเตอร์ ซิสเต็ม มีจำนวนมากขึ้น เป็นตัวแทนของแบรนด์ และช่องทางการค้าปลีกที่มากขึ้น และครีเอเตอร์ จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในเมตาเวิร์ส ในการออกแบบงานสินค้า หรือประสบการณ์บนดิจิตอลแพลตฟอร์ม และ 5. การดูวิดีโอ ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิดีโอสั้น ซึ่งเราเห็นความชื่นชอบในการใช้วิดีโอนี้ และประเทสไทย ก็เป็นหนึ่งในลำดับต้นๆในการสร้างวิดีโอสั้น ผ่าน “รีลส์” ของอินสตาแกรม ที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์วิดีโอกับกลุ่มลูกค้า ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งในอนาคต เมตาเวิร์สจะเข้ามาช่วยเสริมตรงนี้ให้เกิดอะไรได้มากขึ้น

คุณแพร กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อ จากบริษัท เฟซบุ๊ก เป็น เมต้า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก ทำให้บริษัทก้าวข้ามสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันไปสู่โอกาสในอนาคต แต่แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อ แต่เป้าหมายของบริษัทก็ไม่ได้เปลี่ยนไป โดยบริษัทมุ่งมั่นในการสร้างพื้นฐานสำหรับเมตาเวิร์ส เพื่อให้ทุกคนได้เชื่อมต่อกัน
จริงๆก็คือ เฟซบุ๊กนั้น เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของบริษัท แต่หลังจากเปิดมาเกือบ 20 ปี ก็มีผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น การรีแบรนด์ใหม่ จึงเป็นการรวบรวมผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เราพัฒนา ให้อยู่ในร่มเดียวกัน

สำหรับเมตาเวิร์ส จะมาในลักษณะไหนนั้น คุณแพรบอกว่า อย่างแรกคือ “เมต้า” เอง มีแพลตฟอร์มต่างๆอยู่แล้ว และ 2. คือการสร้างสะพานเพื่อเชื่อมแพลตฟอร์มต่างๆไปสู่เมตาเวิร์ส อย่างเช่น บนเฟซบุ๊ก เราก็จะมีพอร์ต เพื่อเข้าสู่เมตาเวิร์ส เป็น 3 มิติ เป็นเออาร์ ในบ้านของเรา บนโลกเมตาเวิร์ส เป็นต้น
คุณแพร ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเหล่าครีเอเตอร์ ที่ทางบริษัทเมต้าเอง อยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมกันเปิดรับเทรนด์ใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นบนเมตาเวิร์สนี้ ที่จะสามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการสร้างรายได้ในอนาคต

และคาดว่า ในปี 2030 ถ้ามีการลงทุนกับเออาร์ วีอาร์ เพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะหมายถึงเม็ดเงินที่จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image