กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์​ เว็บบ์ ถึงจุดหมายประจำการที่ตำแหน่ง L2 แล้ว

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์​ เว็บบ์ ถึงจุดหมายประจำการที่ตำแหน่ง L2 แล้ว

ดร. มติพล ตั้งมติธรรม   นักวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ในเฟชบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  เรื่องกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์​ เว็บบ์ (JWST) ได้เข้าสู่วงโคจร ณ จุด L2 เป็นที่เรียบร้อย โดยระบุว่า

วันที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 02:05 น. ตามเวลาประเทศไทย กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์​ เว็บบ์ (JWST) ได้เข้าสู่วงโคจร ณ จุด L2 เป็นที่เรียบร้อย นับเป็นขั้นตอนสุดท้ายและสิ้นสุดกระบวนการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นของขั้นตอนการทดสอบอุปกรณ์ก่อนเริ่มใช้งานจริงอีกห้าเดือนถัดไป
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ จัดเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ใหญ่ที่สุด และทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน เดินทางขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

หลังจากอยู่ในขั้นตอนการพัฒนามากว่าสองทศวรรษ ด้วยความต้องการในการสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นอินฟราเรดจึงทำให้กล้องนั้นเต็มไปด้วยเทคโนโลยีอันสุดขั้วในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ระบบการควบคุมอุณหภูมิ[ ตัววัสดุใหม่สำหรับกระจกเบอริลเลียมเคลือบทองขนาดกว่า 6.5 เมตร การพับและกางอุปกรณ์เหล่านี้  ที่จะต้องผ่านขั้นตอนอันซับซ้อนกว่า 344 ขั้นตอน ซึ่งกว่า 307 ขั้นตอน (87%) นั้นจัดเป็น single-point failure หรือขั้นตอนที่แม้ผิดพลาดแม้แต่ขั้นตอนเดียวก็จะทำให้ทั้งภารกิจไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

กล้องโทรทรรศน์ที่มีความไวแต่แสงและความร้อนขนาดนี้ จะไม่สามารถอยู่ในวงโคจรของโลกที่แสงจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์จะมารบกวนการสังเกตการณ์ได้ จึงจำเป็นต้องมีวงโคจรอยู่ที่จุด L2 ซึ่งเป็นจุดที่แรงหนีศูนย์กลางจะหักล้างจากแรงโน้มถ่วงจากโลกและดวงอาทิตย์พอดิบพอดี  แต่การจะส่งไปยังจุดนี้ได้นั้นค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากเป็นจุดที่อยู่ห่างออกไปถึง 1.5 ล้านกิโลเมตรในทางด้านเงามืดของโลก ซึ่งไกลเกินกว่าระยะทางที่มนุษย์คนใดเคยเดินทางไปถึงกว่า 4 เท่า

Advertisement

ก่อนจะไปยังจุดนี้ได้ JWST จะต้องถูกส่งออกไปจากฐานปล่อยด้วยจรวด Ariane 5 ไปยังวงโคจรรูปวงรีที่มีจุดห่างจากโลกอยู่ที่จุด L2 จากนั้นจึงผ่าน mid-course correction burn ด้วยกันกว่าสามครั้ง ซึ่งด้วยความแม่นยำในการส่งของจรวด Ariane 5 เข้าสู่วงโคจรนั้นทำให้ JWST ใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ จึงอาจจะมีเชื้อเพลิงเหลือพอที่จะยืดอายุการใช้งานไปได้รวมทั้งสิ้นกว่า 20 ปี (10 ปีมากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้)

และเมื่อ JWST ไปถึงระยะห่างที่จุด L2 นี้เอง ที่เครื่องยนต์บน JWST จะต้องทำงานอีกครั้ง ด้วยการจุดเชื้อเพลิงเป็นเวลาท้ังสิ้น 5 นาที เพื่อเปลี่ยนความเร็วในวงโคจรไป 1.6 เมตรต่อวินาที จนเปลี่ยนจากวงโคจรวงรีกลายเป็นวงโคจรรอบจุด L2 อันเป็นการสิ้นสุด mid-course correction burn ครั้งสุดท้าย

หลังจากที่ JWST ได้ไปอยู่ในตำแหน่งเป้าหมายแล้ว หลังจากนี้ต่อไปอีก 5 เดือนจะเป็นขั้นตอนการเปิดใช้งานและทดสอบอุปกรณ์ และคาดว่าในเวลาอีกไม่นานเกินรอเราน่าจะได้เห็นภาพแรกจากเครื่องมือใหม่ล่าสุดที่จะนำพามนุษยชาติร่วมกันไขปริศนาความลับอีกมากของจักรวาล ที่ยังรอคอยการค้นพบอยู่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image