Meta สร้างวัฒนธรรมธุรกิจและชุมชน ส่งเสริมบทบาทสตรีในประเทศไทยผ่านความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง

Meta สร้างวัฒนธรรมธุรกิจและชุมชน ส่งเสริมบทบาทสตรีในประเทศไทยผ่านความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและวัฒนธรรมการทำงานในหลายๆ ด้านของไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักได้แก่กลุ่มผู้ประกอบการหญิงซึ่งต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้อยู่รอดได้ในช่วงเศรษฐกิจที่ท้าทาย

แม้จะอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ผู้หญิงก็ยังคงยืนอยู่แนวหน้าของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยผลการศึกษาล่าสุดจาก Meta พบว่ามีธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นผู้นำเพิ่มมากขึ้นบน Facebook เกือบ 50% ในขณะที่ธุรกิจใหม่บน Instagram ที่ระบุว่ามีผู้หญิงเป็นเจ้าของเพิ่มขึ้นมากกว่า 17% นับตั้งแต่ โควิด-19 เริ่มระบาด

Meta ตระหนักถึงบทบาทอันยิ่งใหญ่ของผู้หญิงที่มีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และยังคงสนับสนุนผู้หญิงในการทำธุรกิจผ่านเครื่องมือ โครงการ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลและทักษะสำหรับธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้หญิงสามารถเชื่อมต่อกันได้และเติบโตก้าวหน้าต่อไป

ด้วยแรงผลักดันจากพันธกิจที่จะมอบพลังให้ผู้คนเพื่อสร้างชุมชนและทำให้โลกนี้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เราสามารถรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ผ่านวิธีการที่บริษัททำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ที่ดำเนินงานอยู่ และจากวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นภายในบริษัทเอง Meta มุ่งมั่นที่จะสร้างทีมงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มีความหลากหลายเช่นเดียวกับชุมชนที่เราให้บริการ และตอบสนองด้านทรัพยากรที่ดีที่สุดเพื่อช่วยให้พนักงานทุกคนได้เติบโต ทั้งในด้านชีวิตงาน ชีวิตส่วนตัว และในทุกๆ ช่วงของชีวิต สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทุกคนที่นี่มีพลังที่จะรู้สร้างความแตกต่างให้ชีวิตของผู้คนผ่านงานที่กำลังทำอยู่

ADVERTISMENT

สนับสนุนผู้หญิงผ่านการส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงาน
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่าง (DE&I: Diversity, Equity and Inclusion) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ทำงานที่มีการนำแนวปฏิบัติด้านการจ้างงานและการจัดการแบบใหม่มาใช้เพื่อเอาชนะความมีอคติโดยไม่รู้ตัว Meta เป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยมุ่งเน้นการเป็นแหล่งรวมความสามารถที่หลากหลาย และการสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีคนมองเห็น รับฟัง และให้คุณค่า

ความมุ่งมั่นของ Meta ในด้าน DE&I นี้ ทำให้จำนวนผู้หญิงที่ทำงานที่ Meta และรับตำแหน่งผู้นำเพิ่มสูงขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทั้งนี้ รายงานความหลากหลาย (Diversity Report) ปี 2564 ของ Facebook ระบุว่าพนักงานทั่วโลกของ Meta เป็นผู้หญิง 36.7% โดย 24.8% ทำงานด้านเทคโนโลยี 59.6% ทำงานด้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และ 35.5% อยู่ในตำแหน่งผู้นำ-ข้อมูลจาก UN Women ในปี 2564 ระบุว่าปัจจุบันมีผู้หญิงไทยดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูง 32% เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 27% แต่บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จก. ได้พบว่ามีธุรกิจในประเทศไทยเพียง 64% เท่านั้น ที่มีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ สำหรับ Facebook ประเทศไทย จาก Meta นี่เป็นภารกิจต่อเนื่องในประเทศ:

ADVERTISMENT

คุณแพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าวว่า “Meta เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความหลากหลายและส่งเสริมเรื่องการยอมรับในความต่างมากที่สุดบริษัทหนึ่งในประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของดิฉัน ปัจจุบัน เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย “50 ใน 5” ตามที่ได้ประกาศไว้เมื่อปี 2562 อย่างสม่ำเสมอ โดยเราตั้งเป้าไว้ว่าพนักงานทั่วโลกของเราจะประกอบไปด้วยผู้หญิง กลุ่มคนด้อยโอกาส คนเชื้อชาติผสม คนพิการ และทหารผ่านศึก 50% ภายในเวลาห้าปี”

“ความพยายามที่จะสร้างสถานที่ทำงานที่หลากหลายและสนับสนุนความแตกต่าง ทำให้เราสามารถขจัดเส้นแบ่งและแสดงให้เห็นว่าทุกคนรวมทั้งผู้หญิงสามารถเติบโตได้ในทุกพื้นที่ธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี นอกจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่พนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงออกและมีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จแล้ว เรายังได้รับประโยชน์จากความหลากหลายของบริษัทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับทุกคนอย่างต่อเนื่อง และขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ก้าวหน้าต่อไป”

Meta กับแนวทางยกระดับและสนับสนุนชุมชนผู้หญิงในประเทศไทย
Meta ได้เปิดตัวโครงการหลายโครงการที่ช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้หญิง รวมถึงวัฒนธรรมในองค์กรเอง เช่น Women@Meta ที่เชื่อมโยงพนักงานทุกเพศที่มีภูมิหลังแตกต่างกันเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ยกระดับของผู้หญิงภายในบริษัท ในกลุ่ม Women@Meta ประเทศไทย พนักงานจะนัดพบกันเป็นประจำเพื่อพูดคุยและแบ่งปันความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ไมว่าจะเป็นความสนใจ ปัญหาที่พบ แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และทรัพยากรที่ช่วยให้พนักงานเสริมสร้างทักษะและรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนให้บรรลุศักยภาพสูงสุด

นอกจากนี้ Meta ยังเป็นเจ้าภาพจัดงานประจำปี Women’s Leadership Day (WLD) ซึ่งเป็นงานหนึ่งวันสำหรับพนักงานผู้หญิงทั้งหมด โดยมุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้หญิงภายในบริษัท และสร้างขีดความสามารถที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนทั่วโลกของ Meta งาน WLD นำเสนอวิทยากรรับเชิญและกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และการเรียนรู้ต่างๆ เช่น Women LEAD และ LEAP ซึ่งเป็นการอบรมหลักสูตรความเป็นผู้นำของบริษัท ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงรับมือกับความท้าทายทางอาชีพที่เผชิญได้

“ทีมของเราได้รับประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ จากการที่พนักงานที่เข้าร่วมโครงการรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านการแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ส่วนตัว ความผูกพันและการสนับสนุนกันและกันอย่างแท้จริงจะช่วยให้เราปลดล็อกศักยภาพในตัว และก้าวไปข้างหน้าร่วมกันในฐานะบริษัทได้ การได้พบคนที่คิดเหมือนกันกับเรา ซึ่งทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและเพิ่มกำลังใจให้แก่กันและกันนั้น เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้เรายอมรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน โดยเฉพาะเมื่อ Meta กำลังก้าวไปสู่โลกของเมตาเวิร์ส” คุณแพร กล่าว

นอกเหนือจากกิจกรรมภายในบริษัทแล้ว Meta ยังได้ร่วมมือกับองค์กรชุมชน 18 องค์กร และหน่วยงานภาครัฐ จัดการฝึกอบรมมากกว่า 275 ครั้ง สำหรับผู้ประกอบการสตรีกว่า 20,000 รายทั่วเอเชียแปซิฟิกในปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย โครงการเพิ่มทักษะธุรกิจด้านดิจิทัล Boost with Facebook ได้เข้าถึงผู้คนกว่า 4,000 คนทั่วประเทศ นับตั้งแต่เริ่มเปิดตัวในปี 2562 โดย 65% เป็นผู้ประกอบการสตรี การฝึกอบรมที่ขับเคลื่อนด้วยพันธกิจในการส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กนี้ ครอบคลุมหลักสูตรด้านธุรกิจและทรัพยากรทางการเงิน และเครื่องมือต่างๆ โดยติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการสตรีที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ Meta ยังได้เปิดตัว #BuyFromHer ซึ่งเป็นแคมเปญ 1 เดือนเพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากลในปีนี้และกระตุ้นให้คนเลือกซื้อสินค้าจากธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของในประเทศไทย เพื่อยกระดับความสำเร็จของธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของอีกด้วย

โครงการต่างๆ เหล่านี้ ยังเป็นการริเริ่มที่คุณแพร Country Director ของ Facebook ประเทศไทยจาก Meta ชื่นชอบเป็นการส่วนตัวด้วย โดยคุณแพรได้รับแรงบันดาลใจจากคำกล่าวของวิทยากรรับเชิญ ดร. เม จามิสัน อดีตนักบินอวกาศของ NASA และผู้นำการวิจัยการท่องจักรวาลในปัจจุบัน กล่าวไว้ในงาน Women’s Leadership Day

คุณแพร กล่าวว่า “[ดร. เม] พูดถึงการที่ผู้หญิงจะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง เนื่องจากเราแต่ละคนล้วนมีทักษะและประสบการณ์ที่สามารถทำประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งกับเรื่องนี้ เนื่องจากต้องทดสอบขีดจำกัดของตัวเองหลายต่อหลายครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ หรือการเรียนรู้ภาษาใหม่ในประเทศที่ไม่เคยไปมาก่อน แต่ดิฉันก็จดจ่อกับงาน ทำงานหนัก และเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ในท้ายที่สุด สิ่งที่ ดร.เม พูดถือเป็นเครื่องเตือนใจว่าเราทุกคนล้วนเป็นสมาชิกที่มีค่าของสังคม และในฐานะผู้หญิง เราต้องผลักดันขอบเขตของตัวเองและสนับสนุนกันและกันต่อไป เพราะการมีส่วนร่วมของผู้หญิงมีความหมายสำหรับอนาคต”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image