นักวิจัยอเมริกันพบวิธี ฟื้นฟูความเยาว์วัย

ความพยายามในการค้นหา “น้ำพุแห่งความหนุ่มสาว” ของมนุษย์มีมานานเต็มที และพัฒนารุดหน้าตามความก้าวหน้าทางวิทยาการและองค์ความรู้ของมนุษย์ การแพทย์ในสมัยปัจจุบันสามารถยืดช่วงชีวิตของคนเราออกไปได้นานมากแล้วเมื่อเทียบกับเมื่อหลายศตวรรษที่ผ่านมา กระนั้นมนุษย์ก็ยังล้มเหลวในการฟื้นฟูสภาพความหนุ่มสาวให้กลับคืนมา ทำได้เพียงแค่ยืดระยะเวลาชราภาพให้ยาวออกไปโดยไม่เสียชีวิตลงง่ายๆ เท่านั้น

วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก้าวรุดหน้าไปมากเพียงพอที่จะทำให้เราได้รู้ว่า ภายในเซลล์ของมนุษย์มีกลไกทางพันธุกรรม (ยีน) 4 ตัว ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า “ยามานากะ แฟคเตอร์” (ตามชื่อ ชินยะ ยามานากะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผู้ได้รับรางวัลโนเบลร่วมสาขาการแพทย์เมื่อปี 2012) ซึ่งหากเรา “เปิด” ให้ยีนเหล่านี้ทำงานในจานเพาะเลี้ยง มันสามารถเปลี่ยนเซลล์ให้ย้อนกลับไปสู่สถานะเดียวกับที่เราเคยเห็นกันใน “เอ็มบริโอ” หรือตัวอ่อนของมนุษย์

เซลล์ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ถูกเรียกว่า “สเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) ที่ผ่านกระบวนการเร่งปฏิกิริยา” ให้มีขีดความสามารถหลากหลายในการเติบโตขึ้นเป็นเซลล์อีกหลายชนิดภายในร่างกายของคนเรา และสามารถแบ่งตัวได้โดยไร้ขีดจำกัด
เซลล์

ปัญหาเดียวของการฟื้นฟูความเยาว์วัยให้กับคนเราโดยกระบวนการดังกล่าวนี้ก็คือ นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบว่าหากนำกระบวนการดังกล่าวไปใช้กับสัตว์ทดลองที่ยังมีชีวิต สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ “มะเร็ง”

Advertisement

แต่องค์ความรู้ดังกล่าวไม่ได้ไร้ประโยชน์ เพราะกลายเป็นรากฐานสำคัญให้ทีมวิจัยใหม่ ที่นำโดย ฮวน อิซพิสซัว เบลมอนเต ศาสตราจารย์จากห้องปฏิบัติการ ยีน เอกซ์เพรสชั่น ในสังกัดสถาบันซอลก์ แห่งเมืองลาโฮลญา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และนำไปสู่ความสำเร็จที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเมื่อเร็วๆ นี้ โดยภายใต้กระบวนการใหม่ ทีมวิจัยสามารถย้อนเวลาคืนความหนุ่มสาวให้กับเซลล์ทั้งของสัตว์ทดลองและเซลล์มนุษย์ (ในจานเพาะเลี้ยง) ได้อีกครั้ง ทำให้เซลล์ดังกล่าวมีสภาพและพฤติกรรมแบบเดียวกับเซลล์เดิมที่อายุยังน้อยนั่นเอง

ศาสตราจารย์ อิซพิสซัว เบลมอนเต เปิดเผยว่า ผลจากการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าภาวะชราภาพไม่ได้เป็นกระบวนการที่มีทิศทางเดียว แต่เป็นกระบวนการที่มีพลวัตและความอ่อนไหวสูง ดังนั้น จึงสามารถ “ซ่อมแซม” และแทรกแซงกระบวนการเพื่อการ “เยียวยา” ได้มากกว่าที่เคยคิดกันไว้ แม้ว่าการทดลองจะประสบความสำเร็จในหนูทดลอง และการฟื้นความเยาว์วัยให้กับคนใดคนหนึ่งนั้นมีความสลับซับซ้อนกว่าในหนูมากก็ตามที

กุญแจสำคัญในกระบวนการวิจัยใหม่นี้ อยู่ตรงที่ทีมวิจัยได้ปรับแต่งกระบวนการ “เปิดการทำงาน” ของยามานากะแฟคเตอร์ ให้สามารถเปิดการทำงานของยีนทั้ง 4 ตัวได้ในช่วงเวลาสั้นๆ

Advertisement

ทีมวิจัยเริ่มต้นกระบวนการด้วยหนูทดลองซึ่งเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โปรเกเรีย” โรคดังกล่าวทำให้หนูแก่ลงเร็วกว่าปกติและตายเพราะความแก่ตั้งแต่อายุยังน้อย ทีมวิจัยนำหนูเหล่านี้มาผ่านกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม เพื่อให้เซลล์ของหนูสามารถเปิดใช้งาน “ยามานากะแฟคเตอร์” ได้เมื่อตัวหนูได้รับการบำบัดด้วยสารประกอบบางอย่าง ในกรณีนี้คือ ยาปฏิชีวนะด็อกซีซัยคลีน โดยเริ่มต้นกระบวนการเมื่อหนูทดลองอายุได้ 8 สัปดาห์ จากนั้นก็ทำซ้ำในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตลอดช่วงชีวิตของหนูทดลองดังกล่าว

ผลที่ได้น่าทึ่งมาก เพราะนอกจากหนูทดลองที่ผ่านกระบวนการนี้ยังมองดูยังเยาว์วัยเมื่อมองจากภายนอกแล้ว ภายในของหนูยังแสดงให้เห็นถึงความเยาว์วัยอีกด้วย หนูเหล่านี้มีอาการโค้งงอของกระดูกสันหลังจากความชราน้อยลง, การทำงานของอวัยวะต่างๆ ดีขึ้น, เซลล์ของหนูยังแสดงวี่แววของความชราในระดับโมเลกุลน้อยลงเมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ผ่านกระบวนการอีกด้วย

เมื่อนำเอาหนูทดลองที่แก่แล้วแต่ไม่ได้เป็นโรคมาผ่านกระบวนการ ทีมวิจัยพบว่า เซลล์บางส่วนของหนูกลับฟื้นความสามารถในการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง โดยเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ตับอ่อนสามารถเยียวยาอาการบาดเจ็บได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับหนูวัยเดียวกันที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ

ทีมวิจัยยังนำเอาเซลล์ของมนุษย์ซึ่งผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรมให้สามารถ “เปิด” ยามานากะแฟคเตอร์ได้หลังจากได้รับการบำบัดด้วยสารเคมี เมื่อดำเนินกระบวนการกับเซลล์เหล่านี้แล้วพบว่า สิ่งที่แสดงสัญญาณอาการชราภาพในเซลล์ย้อนกลับและดูหนุ่มสาวขึ้นในระดับโมเลกุล

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ อิซพิสซัว เบลมอนเต ยอมรับว่า กว่ากระบวนการเหล่านี้จะสามารถนำมาใช้ในมนุษย์ได้ก็ยังจำเป็นต้องผ่านการศึกษาวิจัยอีกหลายปีทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image