Web 3.0 มาแรง ประเทศไทย “เข้าตา” นักลงทุนระดับโลก

Web 3.0 มาแรง ประเทศไทย “เข้าตา” นักลงทุนระดับโลก

วิวัฒนาการของอินเตอร์เน็ตยุคที่ 3 หรือ Web 3.0 (WEB3) ที่นำศักยภาพของความสามารถเชิงลึกในการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) และการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Decentralization) มาใช้เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างพื้นที่การสื่อสารผ่านออนไลน์ และเครือข่ายโซเชียล เปิดโอกาสให้ “โลกเสมือนจริง” กลายเป็นพื้นที่ใหม่ สามารถสร้าง “ประสบการณ์จริง” ในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้งาน คนที่มีไอเดีย ภาคธุรกิจ แบรนด์ต่างๆ สร้างสรรค์นวัตกรรม หรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เชื่อมต่อกับผู้คนในโลกเสมือนได้ทั่วโลกอย่างง่ายดาย เกิดการซื้อขายและจ่ายเงินจริงในรูปแบบเงินคริปโต/NFTs (Non-Fungible token) ซึ่งมาพร้อมกับความปลอดภัย โปร่งใสในการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และตัวตนเจ้าของด้วยระบบบล็อกเชน

เป็นที่น่าสนใจว่าในยุคแห่ง Web 3.0 ประเทศไทย กำลังได้รับความสนใจจากหลายบริษัทระดับโลกที่มีการลงทุนด้าน Web 3.0 และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ต่างเชื่อมั่นในอนาคตประเทศไทยว่า จะสามารถเป็นเกตเวย์ของแพลตฟอร์มธุรกิจด้าน Web 3.0 และบล็อกเชน สำหรับต่อยอดขยายบริการในระดับเอเชีย และทั่วโลกในระยะต่อไป

๐ประเทศไทยมี DNA ของ Web 3.0
นางสาวชญาภา จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท The Pink Lab กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย ได้รับการจับตามองจากบริษัทผู้นำด้าน Web 3.0 และบล็อกเชนทั้งระดับโลกและเอเชียมีศักยภาพสำหรับการเข้ามาลงทุน และทำงานร่วมกัน กระตุ้นให้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย ใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงนี้ สร้างนวัตกรรม สร้างโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่และทำงานร่วมกัน แบ่งปันประสบการณ์ระดับโลก เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สู่ตลาดที่สร้างผลกระทบให้กับทั้งผู้ใช้งาน ธุรกิจ และสังคม

Advertisement

ทั้งนี้ วิวัฒนาการของ Web 3.0 ที่เพิ่มศักยภาพสนับสนุนการทำธุรกรรมข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ระหว่างกระเป๋าเงินดิจิทัลบนบล็อกเชน มีบทบาทเป็นมากกว่าแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี แต่คือ “ความหลากหลาย และอนาคต” ซึ่ง Pink Lab ได้จัดแบ่ง 5 หมวดหมู่ ที่สามารถใช้ Web 3.0 มาเป็นโซลูชั่นสร้างโอกาส ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ บล็อกเชน และ Smart Contact 2.สินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ เงินคริปโต และ NFTs 3.แพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Platforms) ซึ่งรวมถึง เมตาเวิร์ส 4.โครงสร้างพื้นฐาน และ 5.การเชื่อมต่อกับผู้ใช้งาน (User Interfaces) ผ่านแอปที่พัฒนาบนบล็อกเชน และกระเป๋าเงินดิจิทัล (Wallet)

“WEB3 คือ ปรากฎการณ์โลก ดังนั้นต้องมีการทำงานร่วมกัน จึงเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสยามพิวรรธน์กับ Pink Lab ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ที่มากกว่าการพูดเรื่องผลกำไรของธุรกิจก็คือ การมอง WEB3 ในมุมมองมหภาค (Macro Scale) และได้คำตอบถึงสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ก็คือ NextTech (เทคโนโลยีแห่งอนาคต) จึงเป็นเหตุผลของการเปิดพื้นที่ “SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX” เทคคอมมูนิตี้เพื่อการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต ในพื้นที่กว่า 4,000 ตร.ม. บนชั้น 4 สยามพารากอน ที่ พันธมิตรด้านเทคโนโลยีหลายรายเข้ามาร่วม ทั้งของไทยและระดับโลก” นางสาวชญาภากล่าว

Advertisement

หัวใจสำคัญของ Web 3.0 คือ การสร้างนวัตกรรม การสร้างสรรค์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นบนเทคโนโลยีนี้ จึงขึ้นอยู่กับ “คน” คนที่มีวิสัยทัศน์ มีแนวคิดเบื้องหลังผลิตภัณฑ์อันยิ่งใหญ่ และมุ่งไปข้างหน้าเพื่อทำตามฝัน ดังนั้นการเปิดพื้นที่ “SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX” ซึ่งเป็นการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง Pink Lab กับสยามพารากอน จึงเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างดีสำหรับสยามพิวรรธน์ มองถึงการสร้างสิ่งต่างๆ ร่วมกัน (Co-Creation) ทั้งกับผู้เช่าพื้นที่ ผู้บริโภค และสำคัญที่สุดคือ ผู้คนจากทั่วโลกนำประสบการณ์ที่ดีที่สุดมาให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน เป็นเรื่องการสร้างนวัตกรรม และจะมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างภายใต้คอนเซปต์ Web 3.0 ออกสู่ตลาด

“ประสบการณ์ของ Pink Lab ที่ได้ไปให้บริการมาแล้วทั่วโลกในหลายๆ ที่ มีลูกค้าทั้งจากยุโรป สหรัฐ และเอเชีย เราทั้งสนุก ได้เรียนรู้ ที่สุดเราจึงคิดว่า ทำอย่างไรให้คนได้มาเรียนรู้จากที่สุดในโลก ปัจจุบันเชื่อว่าระดับโลกหลายรายในวงการนี้ มองเห็นประเทศไทย เป็นตลาดที่น่าสนใจ เรามี DNA ของ Web 3.0” นางสาวชญาภากล่าว

๐บิ๊ก WEB3 เกาหลีมองโอกาสผนึกไทยบุกตลาดโลก
นายไซมอน โซจุน คิม (Mr. Simon Seojoon Kim) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัท Hashed นักลงทุนด้าน Web 3.0 รายใหญ่สุดของเกาหลีใต้ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยและเกาหลีใต้ กำลังกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับการใช้ Web 3.0 โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากความเฟื่องฟูของธุรกรรมเงินดิจิทัล (คริปโต) สอดคล้องกับภาพรวมของระบบนิเวศคริปโตทั่วโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เกาหลีใต้ กลายเป็นผู้บุกเบิกแถวหน้าของ Web 3.0 เพราะที่ผ่านมามีชื่อเสียงทั่วโลกในเรื่องราคาพรีเมียมของตลาดซื้อขายเงินบิทคอยน์สูงสุด (Kimchi Premium) และมีปริมาณการซื้อขายในตลาดเทรดคริปโตบนแพลตฟอร์มแบบที่มีตัวกลางแลกเปลี่ยน หรือ CEX (Centralized Cryptocurrency Exchange) ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นต้น ขณะที่ ประเทศไทย ก็มีจำนวนผู้ถือครองเงินคริปโต ติดอันดับ 1 ของโลก

“เรามองถึงโอกาสการทำงานร่วมกับประเทศไทย โดยนำจุดแข็งของทั้งสองประเทศมาเติมเต็มให้กัน เพื่อต่อยอดการประยุกต์ใช้บล็อกเชน และ Web 3.0 มาสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อขยายพื้นที่ทางธุรกิจและการตลาดออกไปสู่เอเชีย โดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง” มร. คิมกล่าว

ประเทศไทยมีโอกาสสูงในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ WEB3 จากปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.มรดกทางวัฒนธรรม และ 3.ความโอบอ้อมอารี ดังนั้นถ้ามีการนำเอา “เทคโนโลยี” เข้ามาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องใน 3 ด้านนี้ ประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในเรื่อง WEB3 อย่างแน่นอน เพราะสามารถนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ร่วมด้วย

โดยภาคท่องเที่ยวของประเทศไทย ติดอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ อันดับ 4 ในการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อันดับ 5 ของประเทศที่มีอิทธิพลด้านมรดกวัฒนธรรมของโลก และอันดับ 4 ของจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าไปเยือนที่สุดในโลก ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีผู้ถือเหรียญคริปโตมากสุด อันดับ 1 ของโลก เรียกได้ว่า มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมบล็อกเชน

จากจุดแข็งนี้ มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว ที่กระจายครอบคลุมทั่วโลกได้ บนรูปแบบธุรกิจแบบ Just go and do it ในหลักการเดียวกับที่ AirBnB ใช้นิวยอร์กเป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

“การทำงานร่วมกันจะสร้างให้เกิด great scenario โดยนำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาเติมเต็มให้กัน ไทยมีจำนวนผู้ถือครองคริปโตสูงสุดในโลก เกาหลีใต้มีอัตราทำกำไรจากคริปโตสูงสุดของโลก ไทยมีสินทรัพย์ด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจภาคบริการ และวัฒนธรรม เกาหลีใต้ เป็นผู้นำด้านคอนเทนต์ และไทยมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั่วโลกเดินทางเข้ามา เกาหลีใต้มีนักพัฒนาเทคโนโลยีจำนวนมาก” มร.คิมกล่าว

๐จับมือ SCBX สร้างพื้นที่วิจัยและทดสอบ WEB3
นอกจากนี้ ล่าสุด Hashed ได้จัดตั้งความร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทย คือ SCBX เปิดตัว ShardLab เป็นพื้นที่วิจัยและพัฒนา และทดสอบเทคโนโลยีต่างๆ บน Web 3.0 ได้แก่ การปรับแต่งบัญชีอัจฉริยะเพื่อให้สามารถโต้ตอบกับบล็อกเชนได้ง่ายขึ้น (Account Abstraction) รวมถึงอีกหลายโครงการนำร่องสำหรับอีกหลายอุตสาหกรรม เป็นการผสานจุดแข็งมุ่งหวังกระตุ้นการใช้งานเทคโนโลยี WEB3 และบล็อกเชนในประเทศไทย เพื่อตอบรับความท้าทายของภูมิภาคเอเชีย และความท้าทายในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ โดยมุ่งหวังให้สองประเทศทำงานร่วมกันเพื่อเป็นเกตเวย์สำหรับตลาด WEB3

ด้าน มร.โฮจิน คิม ซีเอสโอของ UNPND และซีอีโอ ShardLab กล่าวว่า ShardLab คือหน่วยงานที่เป็นแขนขาสำคัญด้านนวัตกรรม (Innovative Arm) ของ Hashed ดังนั้น การทำงานร่วมกันครั้งนี้ นอกจากตอบสนองตลาดประเทศไทย ยังมองครอบคลุมตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิภาคที่มาแรงสำหรับตลาด WEB3 มุ่งนำเสนอเทคโนโลยีที่ใช้บล็อกเชนแก้ปัญหา (pain point) ที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งการนำมาประยุกต์ใช้ในแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานจริง จะช่วยสร้างผลกระทบในแง่นวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ภายใน ShardLab ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.งานวิจัยพัฒนาและทดสอบโครงการนำร่อง เพื่อให้สามารถผลักดันออกสู่ตลาดได้จริง 2.โครงการอบรมนักพัฒนา WEB3 และ 3.โครงการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจสำหรับ WEB3

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image