ศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ฯ กุญแจสู่ความยั่งยืนของ ‘หัวเว่ย’

huawei

ศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ฯ กุญแจสู่ความยั่งยืนของ ‘หัวเว่ย’

ในโลกยุคที่ทุกอย่าง แทบจะไปอยู่บนโลกออนไลน์ ทั้งข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางธุรกิจ และอื่นๆอีกมากมาย ขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้า คู่ขนานกันไป “ผู้ไม่หวังดี” ก็เติบโตไปพร้อมๆกัน ด้วยหวังที่จะหาประโยชน์จากโลกออนไลน์

ไม่ว่าองค์กรจะใหญ่ขนาดไหน ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกโจมตีได้ทุกเมื่อ

อย่างกรณีล่าสุด ที่ธนาคารอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟไชน่า (ICBC) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่สุดอันดับ 1 ของโลก จากประเทศจีน ได้ถูกกลุ่มแฮกเกอร์โจมตีด้วยแรนซัมแวร์ ที่สาขาในสหรัฐอเมริกา จนทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ระบบการทำงานบางส่วนต้องหยุดชะงักลง

Advertisement

นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้น หากแต่ความเป็นจริงแล้วโลกเราเผชิญกับความไม่มั่นคงบนโลกไซเบอร์กันอย่างมหาศาล โดยเฉพาะภัยจากแรนซัมแวร์ ซึ่งเป็นมัลแวร์ประเภทหนึ่ง ที่จะเข้ามาล็อกคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ของเราไว้ ไม่ให้เจ้าของสามารถเข้าถึงได้ และเหยื่อต้องจ่ายเงินเพื่อให้แฮกเกอร์ปลดล็อกให้

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่อยู่มาอย่างยาวนาน ได้ให้ข้อมูลล่าสุดไว้ว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 มีการโจมตีจากแรนซัมแวร์มากถึง 236 ล้านครั้ง และแรนซัมแวร์ ถือว่าเป็นการโจมตีที่มากที่สุดอันดับ 1 ของโลก คือคิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของการโจมตีบนโลกไซเบอร์ของกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ ขณะที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของหน่วยงานต่างๆ เคยโดนโจมตีด้วยแรนซัมแวร์มาแล้ว

Advertisement

นอกเหนือไปจากภัยไซเบอร์ จากแรนซัมแวร์แล้ว ก็ยังมีภัยคุกคามจากการโจมตีแบบ DDoS , Malicious Apps , Phishing , Vulnerability Exploitations , Cloud Security Vulerabilities และ IoT Attacks ที่ล้วนแล้วแต่เป็นภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ที่ร้ายแรงทั้งสิ้น

ด้วยความตระหนักถึงภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความโปร่งใสทั่วโลก จึงได้ตั้งศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสในด้านการปกป้องความเป็นส่วนตัว (Cybersecurity and Privacy Protection Transparency Center)

ศูนย์ฯดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มเพื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ร่วมกันสำหรับผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงาน การติดต่อสื่อสาร และการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั่วโลก

ทั้งนี้ หัวเว่ยมองว่า เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

นายสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายเพิ่มเติมว่า “ภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยส่วนใหญ่ ได้แก่ แรนซัมแวร์ การโจมตีแบบ DDoS แอพพลิชั่นที่แอบฝังมัลแวร์ ฟิชชิง การโจมตีช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ การโจมตีช่องโหว่ในระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง รวมไปถึงการโจมตีผ่านอุปกรณ์ IoT ต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น ศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสของเราจึงมีเป้าหมายเพื่อป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์เหล่านี้ ควบคู่ไปกับการกำจัดข้อสงสัยด้านความมั่นคงปลอดภัยและยกระดับความไว้วางใจในแบรนด์หัวเว่ยในระดับโลก ที่หัวเว่ยเราเชื่อว่าความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ คือความท้าทายที่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

นายสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์

ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์นี้เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือและพันธมิตรในระดับโลก คือความตั้งใจของเราที่จะขยายความร่วมมือกับลูกค้า คู่ค้าและองค์กรต่างๆ ทั้งทางภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ไปทั่วโลก”

สำหรับศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสแห่งเมืองตงกวน จะประกอบด้วย ศูนย์นิทรรศการ และศูนย์ตรวจสอบและบริการลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถนำอุปกรณ์ของตัวเองจากที่บริษัทมาตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยก่อนตัดสินใจซื้อได้


โดยศูนย์ฯ ดังกล่าว ยังเป็นที่ตั้งของ ‘ห้องปฏิบัติการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แบบอิสระ’ ซึ่งมี ‘แฮกเกอร์สายหมวกขาว’ (White Hackers) จำนวน 200-300 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ก่อนนำออกไปวางจำหน่ายและใช้งาน

นอกจากนี้ในบริเวณเดียวกัน ยังมีศูนย์วิจัยพัฒนา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘หมู่บ้านเขาวัว’ (Ox Horn Village) ประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 12 กลุ่ม ซึ่งสร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากแบบสถาปัตยกรรมชั้นนำในยุโรป โดยตั้งอยู่ทางใต้ของแม่น้ำซงซาน รองรับพนักงานกว่า 25,000 คน

ปัจจุบัน หัวเว่ยมีพนักงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์รวมทั้งสิ้นกว่า 3,800 คน ประจำอยู่ภายในศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสแห่งเมืองตงกวน

สำหรับในประเทศไทย หัวเว่ยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อจัดการแข่งขันด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านดิจิทัลและลดปัญหาการขาดแคลนบุคลาการทางด้านดิจิทัลในประเทศไทย

จากกิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 10,000 คน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนจำนวนบุคลากรทางด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทยและยังช่วยผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายในการขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ หัวเว่ย ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยทุกชิ้นที่นำเข้ามายังประเทศไทยมีการดำเนินการสอดคล้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) และทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ หัวเว่ยมีความตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องความเป็นส่วนตัวจะเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในยุคดิจิทัลแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image