Life@Science : เปลี่ยน‘กากถั่วเหลือง’เป็นวัตถุดิบ‘อาหารในอนาคต’เพื่อลดการใช้ทรัพยากร

กากถั่วเหลือง

การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด การเพิ่มสัดส่วนการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน การรักษาคุณค่าของทรัพยากรในระบบให้คงอยู่นานที่สุด รวมทั้งการลดการปล่อยของเสียให้ต่ำที่สุด ล้วนเป็นวิธีการที่ช่วยให้การผลิตและการบริโภคเป็นไปอย่างยั่งยืน เป็นทิศทางที่พึงประสงค์ของการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกระดับ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ดำเนิน โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

โครงการนี้ส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบ การใช้งาน การจัดการเมื่อสิ้นอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมต่างๆ สนใจเข้าร่วมโครงการ

บริษัท กรีนสปอต จำกัด ผู้ผลิตน้ำนมถั่วเหลืองบรรจุขวดและกล่อง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ไวตามิ้ลค์ วีซอย ไวตามิ้ลค์แชมป์ และกรีนสปอต โดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลายกว่า 30 ชนิด สำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออก บริษัทได้เข้าร่วมโครงการนี้เนื่องจากขยายโรงงานใหม่ ทำให้ยอดการผลิตของโรงงานเดิมลดลง 50% ส่งผลให้การใช้พลังงานและต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้น

ADVERTISMENT

ทีมวิจัยของเอ็มเทคจึงได้ประเมินตัวชี้วัดการดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน Circularity Performance ISO59020 เพื่อนำไปสู่การออกแบบโซลูชั่นเพื่อปรับปรุงตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากร

ทีมวิจัยได้ออกแบบการบริหารจัดการกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบกับสูตรของผลิตภัณฑ์ แต่เพิ่มกำลังการผลิตต่อวันให้สูงที่สุด โดยใช้น้ำหมุนเวียนมากขึ้นและใช้พลังงานลดลง

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการวัดผลอย่างเป็นระบบและชัดเจนตามหลัก Resource Stewardship ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงการคงคุณค่าของทรัพยากรและหมุนเวียนใช้ให้นานที่สุด

การเพิ่มมูลค่ากากถั่วเหลือง
กากถั่วเหลืองที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตน้ำนมถั่วเหลืองมีปริมาณกว่า 100 ตันต่อวัน แต่เดิมจะถูกขายเป็นอาหารสัตว์ บริษัทจึงต้องการเพิ่มมูลค่ากากถั่วเหลืองโดยออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ตามหลักการ Value Creation ของแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

เนื่องจากกากถั่วเหลืองมีโปรตีนและเส้นใยที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สามารถพัฒนาเป็นเส้นใยถั่วเหลือง (Soy fiber) เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารฟังก์ชั่น (Functional ingredient) ได้ จึงสามารถใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด เช่น ใช้เป็นตัวปรับเนื้อสัมผัสในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เทียม นับเป็นผลพลอยได้จากการผลิตที่ทำให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า

การประยุกต์ใช้หลักการออกแบบตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในโครงการนี้ได้สร้างประโยชน์โดยตรงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม คือ ช่วยลดการใช้ทรัพยากร พลังงาน และลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ด้านเศรษฐกิจ คือช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ และด้านสังคม คือทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่ปลอดภัย นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อมูลเพิ่มเติม/ติดต่อ : (นายณัฐกร กีรติไพบูลย์ และ น.ส.ภารดี บุญรอง) โทรศัพท์ 0-2564-6500 ต่อ 4122, 4303 อีเมล์ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image