ไร้ฟอสซิลมนุษย์โบราณ นักวิจัยยังพบ “ดีเอ็นเอ”

(ภาพ-IAET SB RAS/Sergei Zelensky)

ทีมนักวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยา นำโดย แมทเธียส เมเยอร์ นักพันธุศาสตร์จากสถาบันมักซ์ พลังก์ เพื่อมานุษยวิทยาวิวัฒน์ ในเมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี ตรวจสอบพบ ดีเอ็นเอ หรือสารเก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ยุคโบราณ ทั้ง มนุษย์นีแอนเดอร์ธัล และ มนุษย์เดนิโซวัน ในตะกอนตามถ้ำต่างๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 14,000 ปี เรื่อยไปจนถึงกว่า 550,000 ปีก่อน เชื่อเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยสร้างความชัดเจนในการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์จากยุคโบราณมาจนถึงยุคปัจจุบัน เพราะไม่จำเป็นต้องค้นหาซากโครงกระดูกแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลและมนุษย์เดนิโซวัน เป็นสายพันธุ์มนุษย์ยุคโบราณซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง 20,000 ปี ถึง 300,000 ปีก่อน และมีส่วนเกี่ยวพันใกล้ชิดกับมนุษย์สมัยใหม่ที่เป็นบรรพชนของมนุษย์เราในปัจจุบัน ผ่านการผสมข้ามสายพันธุ์กับมนุษย์โบราณทั้งสองกลุ่มดังกล่าว ซึ่งตรวจสอบได้จากสารดีเอ็นเอที่พบในฟอสซิลกระดูกและฟันของนีแอนเดอร์ธัลและเดนิโซวันที่พบก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการขุดค้นพบพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อนประวัติศาสตร์มากมายหลายแห่ง ที่มีเครื่องมือและเครื่องใช้ของมนุษย์โบราณเหล่านี้หลงเหลืออยู่ แต่ซากโครงกระดูกของมนุษย์ในยุคนั้นตรวจพบได้น้อยมาก นอกจากนั้นเท่าที่พบก็ไม่ได้มีสารดีเอ็นเออยู่มากพอที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์เชิงพันธุกรรมได้ทุกครั้งแต่อย่างใด ผลก็คือทำให้การทำความเข้าใจวิวัฒนาการของสายพันธุ์มนุษย์ยังจำกัดอยู่มาก ศาสตราจารย์เมเยอร์ระบุว่า ในแหล่งขุดค้นหนึ่งๆ เราอาจพบซากกระดูกสัตว์หลายพันชิ้นหลงเหลืออยู่ แต่ถ้าในแหล่งเดียวกันนั้นสามารถพบฟันมนุษย์สักซี่หรือกระดูกยาวๆ สักชิ้นก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว

Advertisement

ศาสตราจารย์เมเยอร์เชื่อว่าในเมื่อดีเอ็นเอถูกเก็บรักษาไว้ในกระดูกได้ เมื่อไม่มีกระดูก ดีเอ็นเอที่จับตัวอยู่กับแร่ธาตุต่างๆ ของกระดูกก็สามารถคงอยู่ในตะกอนซึ่งเต็มไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน ทีมวิจัยเดินทางไปเก็บตัวอย่างตะกอนรวมทั้งสิ้น 85 ตัวอย่าง จากถ้ำ 7 ถ้ำในเบลเยียม, ฝรั่งเศส, สเปน, โครเอเชีย และรัสเซีย ถ้ำเหล่านี้มีงานวิจัยก่อนหน้าบ่งชี้ว่าเป็นแหล่งที่มนุษย์โบราณเคยใช้อยู่อาศัย รวมทั้งแหล่งโบราณคดีสำคัญที่ถ้ำเดนิโซวาในไซบีเรียของรัสเซีย ซึ่งมีการขุดพบฟอสซิลกระดูกมนุษย์เดนิโซวันเป็นครั้งแรก

จากตัวอย่างเหล่านั้น ทีมวิจัยสามารถจำแนกดีเอ็นเอของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด รวมทั้งแมมมอธขนยาว, แรดขนยาว (ไรโนเซโรเซส), หมีถ้ำ และไฮยีนาถ้ำ โดยมีร่องรอยของดีเอ็นเอมนุษย์ผสมปนเปอยู่เป็นจำนวนน้อย ทั้งนี้ทีมวิจัยพบดีเอ็นเอของนีแอนเดอร์ธัลในตัวอย่างจาก 4 ถ้ำ และดีเอ็นเอของเดนิโซวันจากถ้ำเดนิโซวา

ศาสตราจารย์เมเยอร์ตั้งข้อสังเกตว่า 2 ถ้ำที่ตรวจสอบไม่พบดีเอ็นเอของมนุษย์นั้น ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างมาเพียง 2-3 ตัวอย่าง เป็นไปได้ว่าหากมีการเก็บตัวอย่างจากถ้ำเหล่านี้มามากขึ้น ก็อาจตรวจสอบพบดีเอ็นเอของนีแอนเดอร์ธัลหรือเดนิโซวันเหมือนกัน

Advertisement

ทีมวิจัยไม่แน่ใจว่า ดีเอ็นเอที่ตรวจพบเป็นดีเอ็นเอจากส่วนไหนของร่างกาย ข้อสันนิษฐานก็คือ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นส่วนของผิวหนังที่หลุดร่อนออกเมื่อหมดอายุขัย หรือจากของเหลวในร่างกาย เช่น เหงื่อหรือเลือด แต่เป็นไปได้เช่นกันว่าดีเอ็นเอดังกล่าวมาจากซากศพมนุษย์ยุคโบราณที่ถูกไฮยีนาล่ากินเป็นอาหารนอกถ้ำ และถ่ายของเสียทิ้งไว้โดยที่ดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณติดอยู่ในอุจจาระของไฮยีนาเหล่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกถ้ำที่พบดีเอ็นเอมนุษย์ ก็พบดีเอ็นเอของไฮยีนาในปริมาณมากเช่นเดียวกัน

ดีเอ็นเอที่จำแนกได้มาจากชั้นตะกอนที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการค้นพบซากฟอสซิลกระดูกมนุษย์มาก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในอนาคตการค้นหาร่องรอยของมนุษย์โบราณอาจไม่จำเป็นต้องมองหาโครงกระดูกเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แม้ว่าจะยังมีปัญหาอยู่บ้างตรงที่การกำหนดอายุทำได้ยาก เนื่องจากสารดีเอ็นเออาจซึมลงไปผ่านชั้นตะกอนต่างๆ ได้นั่นเอง

แต่ศาสตราจารย์เมเยอร์ระบุว่า การที่ดีเอ็นเอของมนุษย์ยุคโบราณเหล่านี้หลงเหลืออยู่ให้ตรวจสอบได้หลังเวลาผ่านไปนานนับเป็นหมื่นเป็นแสนปีถือว่าอัศจรรย์อย่างยิ่งแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image