นักวิทยาศาสตร์ค้นพบประวัติสึนามิ 5,000 ปี ที่สุมาตรา

(ภาพ-Earth Observatory of Singapore)

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ นำโดย ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ รูบิน และ ศาสตราจารย์ แพทริค ดาลี นักโบราณคดีจาก “หอสังเกตการณ์โลกแห่งสิงคโปร์” (อีโอเอส) และ ศาสตราจารย์ เบนจามิน ฮอร์ตัน นักวิชาการประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ตรวจสอบพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงประวัติการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในพื้นที่สุมาตราของอินโดนีเซียและบริเวณใกล้เคียงย้อนหลังไปถึง 5,000 ปี ภายในถ้ำริมทะเล ห่างจากเมืองบันดา อาเจะห์ เมืองเอกของจังหวัดอาเจะห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุสึนามิหลังสุดเมื่อปี 2004 ไปทางใต้ราว 35 กิโลเมตร

ทีมนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวพยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อหาทางทำความเข้าใจเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ให้ได้มากที่สุด โดยศาสตราจารย์ดาลี เสนอแนะให้ใช้วิธีขุดค้นบริเวณถ้ำชายทะเลดังกล่าว นอกจากนั้น ทีมสำรวจยังใช้วิธีการดันท่อโลหะกลวงลงไปในชั้นดินภายในถ้ำจนถึงระดับความลึกราว 7 เมตร เพื่อนำตัวอย่างชั้นดินมาตรวจสอบอีกด้วย

ศาสตราจารย์ฮอร์ตันระบุว่า แค่สำรวจภายในถ้ำไปได้เพียง 15 นาที ทุกคนในทีมสำรวจก็ตระหนักทันทีว่า กำลังได้เห็นหลักฐานการเกิดสึนามิทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ อยู่ตรงหน้า แต่ละชั้นถูกแยกออกจากกันด้วยอินทรียวัตถุที่ทับถมลงมาเรื่อยๆ ในช่วงที่ยังไม่มีสึนามิเกิดขึ้น ทำให้ชั้นดินในถ้ำดังกล่าวนั้นกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การเกิดสึนามิโดยธรรมชาติ ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังไปได้หลายพันหรืออาจเป็นหมื่นปี

Advertisement

เท่าที่มีการตรวจวิเคราะห์และตีพิมพ์ผลลัพธ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เนเจอร์ คอมมูนิเกชั่น เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ชั้นดินภายในถ้ำแสดงถึงการเกิดสึนามิรวมแล้ว 11 ครั้ง ในช่วงระหว่าง 7,900 ปีก่อนเรื่อยมาจนกระทั่งถึงเมื่อ 2,900 ปีก่อนหน้านี้ รวมเวลาทั้งสิ้น 5,000 ปีเต็ม ทั้งหมดเชื่อว่าเป็นสึนามิที่เกิดขึ้นจากรอยเลื่อนซุนดา อันเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ทอดยาวตั้งแต่ทะเลด้านตะวันตกของประเทศพม่าเรื่อยไปจนจรดแนวทะเลริมเกาะสุมาตรา ของประเทศอินโดนีเซีย

รอยเลื่อนซุนดา ยังเป็นรอยเลื่อนแบบพิเศษที่เรียกว่า “เมกะทรัสต์” ซึ่งหมายถึงรอยเลื่อนแบบย้อนกลับที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ระดับเกินกว่า 9 แมกนิจูด ซึ่งสามารถก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้

เมื่อมีการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเวลา 5,000 ปีดังกล่าว มีช่วงเวลาที่ปลอดสึนามิอยู่ 2 สหัสวรรษ (2,000 ปี) และมี 1 ศตวรรษที่เกิดสึนามิถี่ยิบถล่มชายฝั่งบริเวณนี้ถึง 4 ครั้งภายในระยะเวลาเพียง 100 ปี นอกจากนั้น ยังสังเกตพบแนวโน้มว่า สึนามิขนาดเล็กกว่ามักจะเกิดขึ้นกระจุกตัวในเวลาใกล้เคียงกัน หลังจากนั้นมีช่วงเวลาสงบยาวนาน แล้วต่อด้วยการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิขนาดรุนแรงมากในระดับใกล้เคียงกับเมื่อปี 2004 ขึ้นตามมา

Advertisement

ทีมสำรวจคุ้นเคยกับชั้นดินสึนามิเป็นอย่างดี เนื่องจากเคยศึกษาสิ่งที่สึนามิเมื่อปี 2004 นำมาทิ้งปกคลุมไว้อย่างละเอียดก่อนหน้านี้ ชั้นดินสึนามิ จะเป็นทรายเม็ดละเอียด, มีเปลือกหอยและเศษหินโคลนที่นักธรณีวิทยารู้จักกันในชื่อ “ริป-อัพ คลาสต์” กับหินปูนปนอยู่ เช่นเดียวกันซากสัตว์ทะเลขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้วงลึกของมหาสมุทร

ชั้นดินสึนามิดังกล่าวเมื่อนานเข้าจะถูกกลบด้วยอินทรียสารที่เกิดจากการทับถมของขี้ค้างคาว ซึ่งอาศัยอยู่ถ้ำนี้มานานหลายพันปีเพราะอากาศชื้นแฉะและเย็นเหมาะกับการทำรังและตกลูก ทำให้เป็นชั้นดินที่มีสีเข้มแตกต่างกันชัดเจนกับชั้นดินสึนามิ ศาสตราจารย์รูบินระบุว่า การหาอายุโดยใช้คาร์บอนกัมมันตรังสี (คาร์บอน-14) ช่วยให้ทีมงานสามารถกำหนดระยะเวลาการเกิดสึนามิในอดีตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อนำข้อมูลมาสร้างแบบจำลองเชิงสถิติก็ช่วยให้สามารถเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของการทิ้งช่วงในการเกิดสึนามิแต่ละครั้งได้ชัดเจน

ทั้งยังสามารถนำไปเปรียบเทียบกับบันทึกประวัติสึนามิอื่นๆ โดยรอบมหาสมุทรอินเดียได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image