30 นักวิทยาศาสตร์ สำรวจทวีป “ซีแลนเดีย”

ศาสตราจารย์ เจอรัลด์ ดิคเกนส์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์, สิ่งแวดล้อมและโลก ของมหาวิทยาลัยไรซ์ ในมลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เปิดเผยในฐานะผู้นำร่วมของทีมนักวิทยาศาสตร์กว่า 30 คน ที่ออกเดินทางด้วยเรือสำรวจ “โจดีส รีโซลูชั่น” ซึ่งเป็นเรือขุดเจาะสำหรับการสำรวจวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ 1 ใน 2 ลำที่มีอยู่ในโลก เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุถึงเป้าหมายของการเดินทางสำรวจซึ่งจะกินเวลานาน 2 เดือนครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อหาคำตอบสำคัญเกี่ยวกับ “ซีแลนเดีย” ซึ่้งนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเป็น ทวีปที่ 8 ของโลกที่ซุกซ่อน หรือหายสาบสูญไปใต้ทะเลในพื้นที่ต่อเนื่องกับประเทศนิวซีแลนด์ในเวลานี้

องค์ความรู้เดิมของโลกนั้นระบุว่ามีแผ่นดินขนาดใหญ่ที่ถือกันว่าเป็นทวีปอยู่ 7 ทวีปด้วยกัน ประกอบด้วยทวีป แอนตาร์กติก, อเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้, เอเชีย, ยุโรป, แอฟริกา และ ออสเตรเลีย แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์คณะหนึ่งนำเสนอข้อมูลจากการสำรวจวิจัยในวารสารวิชาการ จีเอสเอ ทูเดย์ ระบุว่า โลกมีทวีปที่ 8 ซุกซ่อนอยู่ และควรแสดงขอบเขตของพื้นที่ทวีปดังกล่าวในแผนที่ทางภูมิศาสตร์

ข้อเสนอดังกล่าวนั้นอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานหลายระดับด้วยกัน ตั้งแต่ข้อเท็จจริงที่ว่า หินบริเวณพื้นมหาสมุทรนอกชายฝั่งประเทศนิวซีแลนด์นั้น เป็นหินโบราณ ชนิดที่จะพบได้ก็แต่บนภาคพื้นทวีปเท่านั้น ไม่เคยมีการพบหินชนิดเดียวกันนั้นบนเปลือกโลกที่เป็นพื้นมหาสมุทรมาก่อน นอกจากนั้น พื้นที่ซึ่งเป็นไหล่ทวีปของนิวซีแลนด์มีระดับความลึกน้อยกว่าพื้นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรในบริเวณใกล้เคียงมาก และสุดท้ายก็คือ การเก็บตัวอย่างหินมาสำรวจ พบรอยแยกเป็นแถบบางๆ ของบริเวณเปลือกโลกใต้มหาสมุทรที่เป็นส่วนแยกระหว่างเปลือกโลกใต้สมุทรของออสเตรเลียกับเปลือกโลกใต้สมุทรของนิวซีแลนด์

Advertisement

ข้อเท็จจริงดังกล่าวเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ใต้มหาสมุทรโดยรอบประเทศนิวซีแลนด์นั้นก่อนหน้านี้เคยรวมกันกับนิวซีแลนด์ ประกอบกันเป็นทวีปขนาดใหญ่ทวีปหนึ่ง ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ซีแลนเดีย” ซึ่งมีขนาดใหญ่ราวครึ่งหนึ่งของทวีปออสเตรเลียในเวลานี้

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีคำตอบก็คือ ซีแลนเดีย กำเนิดเป็นทวีปได้อย่างไรและกลายเป็น ทวีปที่หายสาบสูญ หรือทวีปที่ซ่อนอยู่ใต้ทะเลเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้อย่างไร

เพื่อหาคำตอบดังกล่าว มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ร่วมกับโครงการค้นพบทางสมุทรศาสตร์นานาชาติ (ไอโอดีพี) ซึ่งเป็นหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการสำรวจวิจัยทางทะเลระหว่างประเทศ จึงให้ทุนรวมทั้งเรือ “โจดีส” สนับสนุนเพื่อการสำรวจในครั้งนี้ เป้าหมายเพื่อหาเงื่อนงำเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานที่ว่า การเคลื่อนตัวในลักษณะมุดลงหรือ ซับดัคชั่น ของแผ่นเปลือกโลกเมื่อหลายล้านปีก่อนเป็นตัวการส่งผลให้เกิดแนวภูเขาไฟและเป็นที่มาของการ “หายสาบสูญ” ของทวีปที่ 8 นี้หรือไม่

Advertisement

ศาสตราจารย์ดิคเกนส์ระบุว่า เรือโจดีสมีกำหนดเดินทางไปขุดเจาะเพื่อเก็บตัวอย่างแผ่นเปลือกโลกใต้น้ำขึ้นมาเป็นแท่งที่เรียกว่า “คอร์” ในพื้นที่บริเวณทะเลทาสมัน ซึ่งกั้นระหว่างออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์รวม 6 จุดด้วยกัน ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 300 เมตร จนถึงระดับ 800 เมตร แท่งตัวอย่างเปลือกโลกดังกล่าวจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงตามหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ปรากฏอยู่ในตัวอย่างย้อนหลังกับไปเป็นหลายสิบหรือหลายร้อยล้านปี

ศาสตราจารย์ดิคเกนส์ระบุว่า ตามสมมุติฐานนั้น เดิมทีเมื่อราว 100 ล้านปีก่อน บริเวณที่เป็นทวีปแอนตาร์กติก, ออสเตรเลีย และซีแลนเดีย เป็นผืนแผ่นดินเดียวกันจนเป็นทวีปขนาดใหญ่ ต่อมาราว 85 ล้านปีก่อน ซีแลนเดียแยกตัวออกมาจากทวีปใหญ่ดังกล่าว และเมื่อเวลาผ่านไปพื้นดินใต้ทะเลระหว่างออสเตรเลียกับซีแลนเดียก็เริ่มแผ่กว้างออกไปในทิศทางตรงกันข้ามกันตามแนวสองด้านของเทือกเขาใต้สมุทรที่กั้นระหว่างแผ่นดินทั้งสองอยู่ หลังแยกจากกันในครั้งนั้นแล้ว พื้นที่ใต้น้ำระหว่างดินแดนทั้งสองเริ่มบีบกดเข้าด้วยกัน แต่เมื่อราว 50 ล้านปีมาแล้ว แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก เริ่มมุดลงใต้ประเทศนิวซีแลนด์ ยกเกาะ 2 เกาะ (เกาะเหนือและเกาะใต้) ขึ้นมาสูง และก่อให้เกิดแนวภูเขาไฟต่อเนื่องในแปซิฟิก ซึ่งช่วยผ่อนคลายแรงเครียดที่เกิดจากการกดดันเข้าหากันของดินแดนทั้งสองลง

สิ่งที่ทีมวิจัยต้องการทำความเข้าใจก็คือ ทำไมขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้จึงเกิดขึ้นและเกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image