‘นาซา’ จับมือรัสเซีย สร้าง ‘ดีพสเปซ เกตเวย์’

(ภาพ NASA)

ในการประชุมการบินอวกาศนานาชาติ (ไอเอซี) ครั้งที่ 68 ที่เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 กันยายนที่ผ่านมา ตัวแทนขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา กับสำนักงานการอวกาศแห่งรัสเซีย (รอสคอสมอส) ร่วมกันประกาศความตกลงที่ผ่านการลงนามอย่างเป็นทางการแล้ว ในอันที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสำรวจอวกาศห้วงลึก โดยจะเริ่มต้นจากการสร้าง “ดีพสเปซ เกตเวย์” หรือสถานีอวกาศกลางที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางต่อไปในห้วงลึกของอวกาศ โดยจะจัดสร้างขึ้นในห้วงอวกาศใกล้ๆ กับดวงจันทร์

“ดีพสเปซ เกตเวย์” จะทำหน้าที่เป็นเสมือน “สถานีท่า” หรือ “ชุมทาง” ของการเดินทางอวกาศในอนาคต ที่หลายฝ่ายสามารถใช้งานได้เป็นประจำ เพื่อการเดินทางต่อไปยังลงยังดวงจันทร์ หรือจะเดินทางต่อไปยังดาวอังคารที่อยู่ห่างไกลออกไป โดยคาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ภายในทศวรรษ 2020 นี้เป็นต้นไป ด้วยการใช้รูปแบบความร่วมมือแบบเดียวกันกับการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

โรเบิร์ต ไลท์ฟุต รักษาการผู้อำนวยการนาซา ยอมรับว่า “ดีพสเปซ เกตเวย์” หรือ “ดีเอสจี” ยังคงเป็นเพียง “คอนเซ็ปต์” แต่ก็น่ายินดีที่มีหลายฝ่ายสนใจที่จะจัดสร้างสถานีชุมทางดังกล่าวขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ซึ่งถือเป็นการก้าวรุดหน้าไปอีกก้าวเพื่อการสำรวจอวกาศห้วงลึกของมนุษยชาติ

นอกเหนือจากรอสคอสมอสที่ลงนามในความตกลงนี้แล้ว องค์การอวกาศของแคนาดา ญี่ปุ่น และองค์การอวกาศแห่งยุโรป ก็สนใจที่จะร่วมมือในโครงการนี้ด้วย ทั้งหมดเคยร่วมมือกันสร้างและใช้งานไอเอสเอสเป็นผลสำเร็จมาแล้ว ทั้งนี้รักษาการผู้อำนวยการนาซาเชื่อว่า ความร่วมมือที่จะมีขึ้นนี้จะส่งผลให้สถานีชุมทางอวกาศมีความเป็นไปได้และสามารถยั่งยืนได้ในอนาคต

Advertisement

วิลเลียม เกอร์สเตนไมเออร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและการสำรวจโดยมนุษย์ของนาซา เชื่อว่า “ดีพสเปซ เกตเวย์” สามารถรองรับความร่วมมือจากทั้งในระดับชาติและในเชิงพาณิชย์ ซึ่งหมายถึงบรรดาบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินกิจการด้านอวกาศอยู่ในเวลานี้ก็สามารถเข้ามาเป็นหุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์ของโปรเจ็กต์นี้ได้ ในขณะเดียวกัน “ดีเอสจี” จะแตกต่างออกไปจากไอเอสเอส ตรงที่มันสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งของตัวเองได้

“ดีเอสจีสามารถขยับเข้าใกล้ดวงจันทร์ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนภารกิจหุ่นยนต์ หรือภารกิจโดยมนุษย์ของหุ้นส่วนบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถขยับขึ้นไปอยู่ในพิกัดวงโคจรระดับสูงเหนือดวงจันทร์ เพื่อการสนับสนุนภารกิจสำรวจอวกาศ ที่จะเริ่มออกเดินทางจากดีเอสจี เพื่อไปสู่เป้าหมายไกลๆ อื่นๆ ในระบบสุริยะได้” เกอร์สเตนไมเออร์ระบุ

ในส่วนของรัสเซียนั้น มีแผนการอยู่นานแล้วที่จะส่งมนุษย์ไปจัดตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ และกำหนดเริ่มส่งมนุษย์อวกาศไปลงบนดวงจันทร์ให้ได้อย่างช้าที่สุดภายในปี 2029 การร่วมมือครั้งนี้อาจส่งผลให้กำหนดการดังกล่าวบรรลุผลได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น

Advertisement

ส่วนนาซาเองมุ่งความสนใจไปที่ดาวอังคารมากกว่า ในแง่นี้ดีเอสจีจะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของนาซา ในการจัดสร้าง “ยานขนส่งอวกาศห้วงลึก” (ดีพสเปซ ทรานสปอร์ต-ดีเอสที) ซึ่งจะเป็นยานอวกาศที่มีศักยภาพในการขนส่งนักบินอวกาศไปยังดาวอังคารขึ้นในห้วงอวกาศ

จุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์ใหญ่ของมนุษยชาตินี้ เริ่มต้นด้วยการพัฒนาระบบจรวดส่งสำหรับจัดส่งยานพร้อมมนุษย์อวกาศขึ้นมาใหม่ เรียกว่า “สเปซ ลอนช์ ซิสเต็ม” (เอสแอลเอส) ซึ่งติดตั้งแคปซูลโอไรออนสำหรับมนุษย์อวกาศอยู่ด้วย นาซากำหนดเริ่มใช้เอสแอลเอสเพื่อจัดส่งวัสดุและชิ้นส่วนของสถานีพร้อมมนุษย์อวกาศสำหรับการจัดสร้างดีเอสจีขึ้นสู่ห้วงอวกาศตั้งแต่ปี 2023 เรื่อยไปจนถึงปี 2026

โดยจะเริ่มทดลองใช้งานเอสแอลเอส/โอไรออน แบบไม่มีมนุษย์อวกาศ ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป

“ดีพสเปซ เกตเวย์” นอกจากจะเข้ามาทดแทนไอเอสเอส ซึ่งคาดว่าจะหมดอายุการใช้งานลงในปี 2024 แล้ว ยังสามารถใช้เพื่อเป็นสถานที่ทดลองเพื่อศึกษาการเดินทางสำรวจอวกาศห้วงลึก เพราะมีสภาพใกล้เคียงกับการอยู่ในอวกาศจริง เนื่องจากอยู่เหนือสนามแม่เหล็กโลก แตกต่างจากไอเอสเอส ที่อยู่ใกล้โลกและไม่สามารถทดลองในสถานการณ์จริงดังกล่าวได้

การจัดสร้างดีพสเปซ เกตเวย์ จึงนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการสำรวจอวกาศระหว่างดวงดาวอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image