‘เอ็กโซมาร์ส’เล็งค้นหา ‘ชีวิต’บนดาวอังคาร

(ภาพ-ESA)

“ฮาวัน สเวดเฮม” หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ “เอ็กโซมาร์ส” โครงการสำรวจดาวอังคารภายใต้ความร่วมมือระหว่าง องค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) กับ “รอสคอสมอส” สำนักงานอวกาศแห่งรัฐรัสเซีย กำหนดถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากฐานยิงจรวด ไบโคนูร์ คอสโมโดรม ที่ประเทศคาซัคสถานเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อออกเดินทางโดยใช้เวลานาน 7 เดือนไปยังดาวอังคาร ก่อนเริ่มปฏิบัติการตรวจสอบหาหลักฐานที่บ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้

“นี่เป็นภารกิจสำรวจดาวอังคารภารกิจแรกสุด ที่มุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่การค้นหาหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งเคยมีสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนี้หรือไม่” สเวดเฮมระบุ

นำ2

โครงการสำรวจดาวอังคาร “เอ็กโซมาร์ส” ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นยานสำรวจจากวงโคจรรอบดาวอังคารซึ่งเรียกว่า เทรซ ก๊าซ ออร์บิเตอร์ (ทีจีโอ) ที่จะโคจรไปรอบๆ ดาวอังคารเหมือนดาวเทียมโคจรอยู่รอบโลก เพื่อทำหน้าที่เก็บรวบรวมตัวอย่างของชั้นบรรยากาศในระดับต่างๆ ของดาวอังคารเข้ามาในยานเพื่อตรวจสอบว่า ก๊าซมีเทนที่อยู่ในบรรยากาศของดาวอังคารนั้น มีแหล่งที่มาจากสิ่งมีชีวิตหรือเกิดจากกระบวนการทางเคมีจากสิ่งที่ไม่มีชีวิตกันแน่ หลังจากที่เมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร มาร์ส คิวริออสซิตี ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ยืนยันชัดเจนว่า มีก๊าซมีเทนในปริมาณมหาศาลบนดาวดวงนี้

Advertisement

ทีจีโอ ใช้วิธีการตรวจวัดหาปริมาณของ คาร์บอน-14 (ไอโซโทป 1 ใน 3 ชนิดของคาร์บอนที่เกิดจากการเน่าเปื่อย การสลายตัวของซากสิ่งมีชีวิตหรือกระบวนการทางเคมีอื่น) ในก๊าซมีเทนที่มีอยู่ในบรรยากาศของดาวอังคาร เนื่องจากมีเทนที่ได้จากแหล่งที่ไม่มีชีวิตจะมีปริมาณของคาร์บอน-14 สูงกว่า มีเทนที่ได้จากแหล่งที่มาที่เป็นสิ่งมีชีวิตนั่นเอง

สเวดเฮม ยอมรับว่า สัดส่วนของคาร์บอน-14 ในมีเทนในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร แม้จะไม่ใช่ข้อพิสูจน์ถึงการมีสิ่งมีชีวิตชนิด 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ก็เป็นหลักฐานที่แน่นหนาอย่างมากที่จะบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบางอย่างที่เป็นตัวการสร้างไอโซโทปนี้ขึ้นมา

นอกเหนือจากนั้นแล้ว เมื่อ เอ็กโซมาร์ส เดินทางถึงดาวอังคารในวันที่ 19 ตุลาคม 2016 ก็จะปล่อยยานลูกขนาดเล็ก ชื่อ “สเคียพาเรลลี” ลงบนพื้นผิวดาวอังคาร ในขณะที่ตัวยานแม่จะโคจรไปรอบดาวอังคารเรื่อยๆ แล้วจะใช้บรรยากาศของดาวอังคารทำหน้าที่เบรกชะลอความเร็วในการโคจรและขยับตำแหน่งลดลงเข้าใกล้พื้นผิวดาวอังคารมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกำหนดตำแหน่งของยานในหลายๆ ระดับที่แตกต่างกัน สำหรับการเก็บตัวอย่างบรรยากาศเหล่านั้นมาตรวจสอบหาปริมาณคาร์บอน-14 กระบวนการดังกล่าวนี้จะกินเวลาราว 1 ปี โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2017 จนกระทั่งถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

Advertisement

“สเคียพาเรลลี” เป็นยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารขนาดเล็กมาก ถูกกำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่สำรวจพื้นผิวดาวอังคารเพียง 4-5 วันเท่านั้น และจะไม่ติดต่อสื่อสารกับโลก เนื่องจากแบตเตอรี่ให้พลังงานมีขนาดเล็กและต้องใช้พลังงานส่วนใหญ่ไปกับการทำความอบอุ่นให้กับตัวยาน

เป้าหมายสำคัญในการปล่อยยานสเคียพาเรลลีครั้งนี้ คือการทดสอบระบบการลงจอดที่ปลอดภัย ทดสอบความแม่นยำในการลงจอด รวมทั้งระบบชูชีพพยุงยานขณะลงจอด

เพื่อเก็บเป็นข้อมูลสำหรับปฏิบัติการของยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารที่จะส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2018 ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image