ทีมวิจัยญี่ปุ่นค้นพบ “แบคทีเรีย”กินพลาสติก

แฟ้มภาพ (ที่มา : sustainablecommunication.org)

ทีมวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น นำโดย ศาสตราจารย์ โชสุเกะ โยชิดะ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาประยุกต์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเกียวโต เปิดเผยความสำเร็จในการค้นพบแบคทีเรียที่สามารถทำลายพันธะทางเคมีของพลาสติกชนิดที่มนุษย์นิยมใช้กันมากที่สุดในโลก คือ โพลีเอธีลีน เทเรฟธาเลต (พีอีที) และทำให้พลาสติกแตกตัวเป็นสารเคมี 2 ชนิดที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

ทีมวิจัยญี่ปุ่นใช้เวลาในการสังเกตศึกษาครั้งนี้ยาวนานถึง 5 ปี โดยเก็บตัวอย่างพลาสติกปนเปื้อนจากแหล่งธรรมชาติมาสังเกตศึกษา ทั้งจากตะกอนในที่ต่างๆ, ในดิน, ในน้ำครำ และเศษพลาสติกจากตะกอนที่ทิ้งจากโรงงานรีไซเคิลขวดพลาสติก จากนั้นนำมาตรวจสอบและคัดกรองจุลชีพชนิดต่างๆ ที่ใช้ฟิล์มพีอีทีเป็นแหล่งอาหาร ในตอนแรกทีมวิจัยพบว่ามีระบบนิเวศของแบคทีเรียจำนวนมากเกิดขึ้นและอาศัยอยู่บนผิวของพลาสติกพีอีที แต่เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่ามีแบคทีเรียเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถย่อยสลายผิวพลาสติกพีอีทีได้ โดยอาศัยเอ็นไซม์พิเศษ 2 ชนิด เข้าไปทำลายพันธะทางเคมีของพลาสติกพีอีที ทำให้หลงเหลือสารเคมี 2 ชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม คือ เอธีลีน กลีโคล กับ กรดเทเรฟธาเลต

แบคทีเรียดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “ไอดีโอเนลลา ซาไคเอนซิส 201-เอฟ6” แต่กระบวนการย่อยสลายดังกล่าวดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ใช้เวลานานถึง 6 สัปดาห์จึงสามารถย่อยสลายพลาสติกพีอีทีได้ อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์โยชิดะ เชื่อว่ากระบวนการย่อยสลายดังกล่าวสามารถเร่งระยะเวลาได้ โดยอาศัยกระบวนการทางวิศวกรรมโรงงาน ทำนองเดียวกับการใช้แบคทีเรียเพื่อก่อให้เกิดการเน่าเปื่อยสำหรับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ หรือ การใช้ยีสต์ช่วยในการทำขนมปัง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์โยชิดะยอมรับว่า ทั้งหมดยังเป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น ตนจึงเผยแพร่การค้นพบครั้งนี้ออกไปเพื่อให้มีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างได้ผลในที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image