พบอีก’เอ็กโซแพลเน็ต’ เหมาะจะเป็น’โลกใหม่’

(ภาพ-ESO)

ทีมนักดาราศาสตร์ประจำ “ยูโรเปียน เซาเทิร์น ออบเซอเวทอรี” หรือ “อีเอสโอ” ตรวจสอบพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือ “เอ็กโซแพลเน็ต” ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลก และเอื้อต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ในอนาคตอีกดวง อยู่ห่างออกไปเพียง 11 ปีแสงเท่านั้นเอง

ดาวเคราะห์คล้ายโลกดังกล่าวซึ่งถูกกำหนดชื่อว่า “รอส 128 บี” อยู่ห่างจากโลกมากกว่าระบบดาว “อัลฟา เซนทอรี” ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดเพียง 3 เท่าตัวโดยประมาณเท่านั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่า ประมาณการอุณหภูมิบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้ เป็นช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมนุษย์มากกว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอื่นๆ ที่พบ

ทีมของอีเอสโอนำคุณลักษณะของ “รอส 128 บี” ไปเปรียบเทียบกับ “พร็อกซิมา บี” ดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกซึ่งโคจรอยู่โดยรอบ “พร็อกซิมา เซนทอรี” ดาวฤกษ์ของระบบดาวอัลฟา เซนทอรี ที่มีการค้นพบเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา พบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ต่างโคจรอยู่โดยรอบดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดง (เรด ดวาร์ฟ) ที่มีขนาดเล็กกว่า และแผ่รังสีความร้อนออกมาน้อยกว่าดวงอาทิตย์ ที่เป็นดาวฤกษ์ของระบบสุริยะ

อย่างไรก็ตาม ดาวแคระแดงของพร็อกซิมา บี มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากกว่า ดาวแคระแดงของ “รอส 128 บี” ซึ่งทำให้ “รอส 128 บี” ได้รับผลกระทบจากโซลาร์ แฟลร์ จากดาวฤกษ์ประจำระบบน้อยกว่า ซึ่งทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ของอีเอสโอเชื่อว่า “รอส 128 บี” น่าจะมีสภาพเหมาะสมสำหรับการดำรงชีพของมนุษย์มากกว่าพร็อกซิมา บี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่า “รอส 128 บี” โคจรอยู่ในระยะห่างจากดาวฤกษ์ที่เหมาะสม หรือที่เรียกว่า “ฮาบิแทท โซน” ของระบบดาว ซึ่งหมายถึงระยะห่างที่เหมาะสมซึ่งทำให้น้ำสามารถคงตัวอยู่ในสถานะของเหลวได้หรือไม่ เนื่องจากทีมอีเอสโอยังไม่แน่ใจในประเด็นนี้นักในเวลานี้

Advertisement

ถ้อยแถลงของอีเอสโอระบุว่า ดาวฤกษ์ของระบบมักก่อให้เกิดพายุสุริยะ ที่ทำให้เกิดการแผ่รังสีอันตราย อย่างเช่น รังสีอัลตราไวโอเลต และรังสีเอกซเรย์ อาบดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่โดยรอบ อย่างไรก็ตาม ดาวฤกษ์ของ “รอส 128 บี” ดูเหมือนจะไม่ก่อพายุสุริยะมากนัก ดังนั้น ทำให้ “รอส 128 บี” น่าจะเป็นดาวเคราะห์ที่ใกล้โลกที่สุดซึ่งเหมาะสมกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต

“รอส 128 บี” โคจรรอบดาวฤกษ์ของมันใช้เวลา 9.9 วัน ก็ครบหนึ่งรอบ ซึ่งแสดงว่าวงโคจรของมันอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ของระบบมากกว่าที่โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก แต่เนื่องจากดาวฤกษ์ของ “รอส 128 บี” ปล่อยพลังงานออกมาน้อยกว่า ทำให้ “รอส 128 บี” ได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์ของระบบมากกว่าโลกได้รับจากดวงอาทิตย์เพียง 3 เท่าเท่านั้น และจากการวิจัยพบว่า “อีควิลิเบรียม เทมเพอเรเจอร์” หรือ “สมดุลเชิงอุณหภูมิ” ของดาวเคราะห์ดวงนี้ อยู่ระหว่าง 60 องศาเซลเซียส กับ 20 องศาเซลเซียส ซึ่งเอื้อต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เช่นกัน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ “ไฮ แอคคิวเรซี เรเดียล เวโลซิตี แพลเน็ต เซิร์ซเชอร์” หรือ “ฮาร์ปส์” ของอีเอสโอ ที่หอสังเกตการณ์ ลา ซิลญา ในประเทศชิลี ในการตรวจสอบพบ “รอส 128 บี” ครั้งนี้ โดยอีเอสโอเตรียมใช้ “เอ็กซตรีมลี ลาร์จ เทเลสโคป” ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะใช้งานได้ในปี 2024 เพื่อสังเกตการณ์และทำวิจัยต่อเนื่อง โดยกล้องโทรทรรศน์ อี-อีแอลที ใหม่นี้ สามารถตรวจวิเคราะห์หา “ออกซิเจน” หรือโมเลกุลอื่นที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตในบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้ด้วย

Advertisement

อีเอสโอระบุด้วยว่า ในเวลานี้ “รอส 128 บี” อยู่ห่างจากโลก 11 ปีแสงก็จริง แต่กำลังเคลื่อนเข้ามาหาโลกมากขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะกลายเป็นกลุ่มดาวที่อยู่ใกล้โลกที่สุดภายใน 79,000 ปีเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image