ทีมวิจัยชี้ “มลพิษ” ลดคุณภาพ “สเปิร์ม”

(ภาพ-TBIT via pixabay)

ทีมวิจัยนำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย “ไชนีส ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ ฮ่องกง” เผยแพร่ผลวิจัยผ่านทางวารสารวิชาการเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอาชีวะ ที่แสดงให้เห็นว่า มละภาวะในอากาศเชื่อมโยงกับคุณภาพของสเปิร์ม ทั้งในแง่ของรูปร่างและขนาด ซึ่งส่งผลให้ขีดความสามารถในการเจริญพันธุ์ของผู้ชายลดลง ซึ่งถึงแม้ผลกระทบดังกล่าวจะมีน้อยในทางการแพทย์ แต่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในทางสาธารณสุข เนื่องจากนำไปสู่ภาวะไม่เจริญพันธุ์ในคู่แต่งงานจำนวนมาก เมื่อคำนึงถึงว่าในหลายเมืองทั่วโลกในเวลานี้ล้วนมีมลภาวะในอากาศด้วยกันทั้งสิ้น

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวเป็นการศึกษาวิจัยด้วยการสังเกตการณ์ประเมินคุณภาพ สเปิร์ม ในผู้ชายเกือบ 6,500 คน อายุระหว่าง 15-49 ปีควบคู่ไปกับการตรวจวัดระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในประเทศไต้หวัน ระหว่างปี 2001 ถึงปี 2014 ฝุ่นละอองขนาดเล็กละเอียดดังกล่าวเกิดขึ้นจากท่อไอเสียของรถยนต์, จากการก่อสร้าง และจากการเผาไหม้ไม้ ในบริเวณใกล้เคียงกับที่พักอาศัยของกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมอยู่ในการวิจัย โดยอาศัยข้อมูลจากการตรวจวัดขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา

ทีมวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองที่เป็นอนุภาคขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนเกี่ยวพันอย่างแรงกล้ากับการเปลี่ยนรูปร่างผิดปกติของสเปิร์ม นอกจากนั้นยังส่งผลต่อขนาดของสเปิร์ม โดยในส่วนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงสุด ก็คือการได้รับฝุ่นละอองดังกล่าวเข้าไปมากจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่างและขนาดของสเปิร์มเปลี่ยนแปลงไปในทางลบมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของขนาดและรูปร่างปกติ โดยการได้รับฝุ่นละอองละเอียดเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ไมโครกรัมต่ออากาศ 1 คิวบิกเมตรจะส่งผลให้สเปิร์มมีขนาดเล็กลง รูปร่างเปลี่ยนไปในทางลบ ราว 1.29 เปอร์เซ็นต์ของขนาดและรูปร่างปกติในช่วงระยะเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตามจำนวนสเปิร์มจะเพิ่มขึ้น เชื่อว่าเป็นกลไกในการชดเชยต่อขนาดและรูปร่างที่ลดลงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยย้ำว่า งานวิจัยครั้งนี้เป็นเพียงการวิจัยด้วยการตรวจสอบสังเกตการณ์ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า มลภาวะในอากาศ ซึ่งถูกระบุว่าก่อให้เกิดการเสียชีวิตหลายล้านคนทั่วโลกในแต่ละปีนั้น มีผลต่อพัฒนาการของสเปิร์มได้อย่างไร และไม่สามารถสรุปสาเหตุและวิธีที่ฝุ่นละอองละเอียดก่อให้เกิดการเปลี่ยนขนาดและรูปร่างของสเปิร์มได้ อย่างไรก็ตาม ในงานศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ก็เคยได้ผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นว่า สสารบางอย่างที่เป็นองค์ประกอบของมลพิษ อย่างเช่น อนุภาคของโลหะหนัก และ โพลีไซคลิก อโรมาติค ไฮโดรคาร์บอน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้ตัวสเปิร์มได้รับความเสียหาย

Advertisement

อัลลัน เพซีย์ ศาสตราจารย์ด้านบุรุษเวชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้น่าจะส่งผลพัฒนาความเข้าใจต่อสาเหตุการเกิดภาวะไม่เจริญพันธุ์ในผู้ชายได้ในอนาคต แม้จะตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การวัดขนาดและรูปร่างของสเปิร์มนั้น เป็นส่วนที่ยากที่สุดในการตรวจสอบและวัด ซึ่งอาจทำให้ความแม่นยำ ถูกต้องของงานศึกษาวิจัยนี้ลดน้อยลง

แต่ก็ถือว่าเป็นงานวิจัยซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจสูงทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image