ทึ่ง! สะเก็ดดาว’ไฮพาเทีย’ เกิดก่อนระบบสุริยะ

(ภาพ-Mario di Martino-INAF Osservatorio Astrofysico di Torino)

“ไฮพาเทีย” หินจากห้วงอวกาศ ซึ่งถูกค้นพบในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอียิปต์เมื่อปี 1996 สร้างความน่าทึ่งให้เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อผลการศึกษาวิเคราะห์ครั้งใหม่พบว่า องค์ประกอบของมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อนในระบบสุริยะทั้งหมด จนมีความเป็นไปได้ว่าบางส่วนของ “ไฮพาเทีย” อาจก่อรูปขึ้นมาก่อนการเกิดระบบสุริยะด้วยซ้ำไป

ไฮพาเทียเป็นสะเก็ดหินขนาดเล็ก ส่วนกว้างที่สุดเพียง 3.5 เซนติเมตร น้ำหนักรวมแล้วเกิน 30 กรัมเล็กน้อยเท่านั้น (ถูกตั้งชื่อตามนักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาสตรีที่มีชื่อเสียงในยุคศตวรรษที่ 4) เคยสร้างความประหลาดใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่เคยศึกษาวิเคราะห์มาตลอด ในการวิเคราะห์ครั้งแรกสุด นักวิทยาศาสตร์พบว่าองค์ประกอบของไฮพาเทีย ไม่เหมือนกับอุกกาบาตใดๆ ที่เคยพบกันมา จนไม่สามารถจัดมันเข้าหมวดหมู่ใดๆ ได้ ล่าสุดในการวิเคราะห์ครั้งใหม่ นักวิจัยพบว่าอย่างน้อยที่สุดบางส่วนของไฮพาเทียอาจก่อตัวเป็นรูปร่างขึ้นก่อนหน้าที่ระบบสุริยะจะก่อกำเนิด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ไฮพาเทียอาจเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเมฆที่เต็มไปด้วยฝุ่นในห้วงอวกาศ ซึ่งค่อยๆ ผนึกรวมตัวกันขึ้นเป็นระบบสุริยะของเรา อาจไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียวตามความรู้ที่ยึดถือกันในขณะนี้

อันที่จริงไฮพาเทียสร้างความประหลาดใจให้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อแรกค้นพบ จนทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่ามันมีที่มาอย่างไร เนื่องจากมันเต็มไปด้วยเพชรขนาดจิ๋วตั้งแต่ 50 นาโนเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่สุดเพียง 2 ไมโครเมตร มีการสันนิษฐานว่านี่คือตัวอย่างของเพชรชนิดที่มีสีดำและทึบแสงที่เรียกว่า “คอร์บอนาโด ไดมอนด์” แต่เมื่อมีการศึกษาวิจัยจริงจังในปี 2013 และปี 2015 พบว่าอัตราส่วนของโนเบิล แกส ในไฮพาเทีย แสดงให้เห็นว่ามันเป็นวัตถุที่มาจากนอกโลกแทบจะแน่นอนแล้ว โดยสันนิษฐานกันว่าเพชรในหินก้อนนี้เกิดขึ้นเมื่อมันเสียดสีผ่านบรรยากาศขณะตกลงมาสู่โลก

ขณะนี้ ตัวไฮพาเทียเองไม่ถูกจัดให้เป็นอุกกาบาตอย่างเป็นทางการ เนื่องจากตัวก้อนหินเดิมที่พบ ถูกแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นจำนวนมากเพื่อจัดส่งไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์หลายแห่งทั่วโลก จนทำให้ในเวลานี้หลงเหลือให้รวบรวมได้เพียง 4 กรัม ซึ่งไม่มากพอที่จะถูกจัดให้เป็นอุกกาบาตอย่างเป็นทางการ (ซึ่งอย่างน้อยต้องมีมวลรวมราว 20 เปอร์เซ็นต์ของมวลดั้งเดิม)

Advertisement

ในการศึกษาวิจัยครั้งใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาองค์ประกอบของสารแร่ในหินไฮพาเทีย และพบแต่แรกว่าหินก้อนนี้ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งก้อน แต่ประกอบด้วยเนื้อหินที่เต็มไปด้วยคาร์บอนเป็นก้อนๆ แต่ละก้อนก็มีแร่หลากหลายแตกต่างกันออกไปเป็นองค์ประกอบ แร่เหล่านี้สร้างความประหลาดใจให้กับทีมวิจัยพอๆ กับตัวหิน เพราะรวมถึงแน่ที่หายากมากที่สุดในระบบสุริยะ อย่างเช่น ก้อนโลหะอลูมิเนียมบริสุทธิ์, เม็ดโมอิสแซไนท์ (หรือเพชรโมอิส) และเม็ดซิลเวอร์ ไอโอไดน์ ฟอสไฟด์

นอกจากนั้นยังมีส่วนประกอบของธาตุที่มีสัดส่วนผิดแปลกไปจากสัดส่วนของธาตุที่พบในวัสดุใดๆ ในระบบสุริยะอีกด้วย ตัวอย่างเช่น แร่บางอย่างที่มีส่วนประกอบของ นิกเกิล ฟอสไฟด์ ในสัดส่วนที่มีนิกเกิลสูงกว่าเหล็กอยู่มากมาย เป็นต้น

แจน แครเมอร์ส นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งโยฮันเนสเบิร์ก ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ที่ว่าไฮพาเทียจะเกิดขึ้นก่อนที่ระบบสุริยะของเราก่อตัวขึ้นจากกลุ่มก๊าซและฝุ่นผง (โซลาร์ เนบิวลา) ที่หลงเหลืออยู่เมื่อดวงอาทิตย์ของระบบสุริยะแรกกำเนิดขึ้นมาราว 4,600 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งทำให้ไฮพาเทียอาจเก่าแก่กว่าดวงอาทิตย์เองด้วยซ้ำไป โดยส่วนที่เป็นเนื้อหินที่เต็มไปด้วยคาร์บอนนั้นอาจถูกผนึกรวมเข้าไปทีหลังจากส่วนรอบนอกสุดของโซลาร์ เนบิวลา ที่เย็นจัด เนื่องจากการผนึกรวมกันเข้าเป็นวัตถุขนาดใหญ่นั้นจำเป็นต้องเป็นบริเวณที่มีฝุ่นหนาแน่นเพื่ออำนวยให้เกิดเนื้อวัตถุขึ้นเหมือนเช่นในบริเวณ โซลาร์ เนบิวลา

Advertisement

แต่ตามทฤษฎีในปัจจุบันชี้ว่า ฝุ่นในโซลาร์ เนบิวลา มีสภาวะเหมือนกันทั่วทุกแห่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พบเห็นในไฮพาเทีย เพราะเนื้อของไฮพาเทียไม่มีแร่ซิลิเกต ในขณะที่โลกและดาวเคราะห์อื่นๆ ในระบบสุริยะเต็มไปด้วยแร่ซิลิเกตนี้

นั่นคือ หากไฮพาเทียเกิดขึ้นจากโซลาร์เนบิวลา โซลาร์ เนบิวลาเองก็ต้องไม่มีสภาวะเหมือนกัน หรือไม่เช่นนั้น สภาวะของเนบิวลาทุกๆ แห่งจะไม่เหมือนกันเลยแม้แต่น้อย

ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐานมายืนยันให้แน่ชัดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image