นักโบราณคดีเริ่มขุดค้น หาสุสานราชินี “คิง ตุต”

(ภาพ-Horemweb-Wikimedia)

ซาฮี ฮาวาสส์ นักโบราณคดีชาวอียิปต์ ประกาศเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาว่า การขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อค้นหาสุสานพระศพ “อังเคสเซนนามุน” พระมเหสีในองค์ฟาโรห์ ตุตันคามุน ฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี

ของอียิปต์โบราณ (ครองราชย์ระหว่าง 1336-1327 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในบริเวณซึ่งเรียกกันว่า “หุบเขาตะวันตก” (เวสต์แวลลีย์) หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “แวลลีย์ ออฟ เดอะ มังคีย์ส” ในจุดที่อยู่ใกล้กับสุสานของ ฟาโรห์ อัยย์ (ครองราชย์ระหว่าง 1327-1323 ปีก่อนคริสต์ศักราช) พระโอรสของฟาโรห์ ตุตันคามุน ที่ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์

ทีมของฮาวาสส์ตัดสินใจดำเนินการขุดค้นดังกล่าว ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการขุดค้นพบสุสานกษัตริย์ในพื้นที่นี้น้อยมาก เพียง 2-3 สุสานเท่านั้น ในขณะที่สุสานกษัตริย์ส่วนใหญ่ขุดพบที่หุบตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า “หุบแห่งกษัตริย์” (แวลลีย์ ออฟ เดอะ คิงส์) ทั้งนี้ เนื่องจากในการขุดค้นก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยทางโบราณคดีพบบางอย่างน่าสนใจในพื้นที่ใกล้กับสุสานฟาโรห์ อัยย์ คือฐานรากของสิ่งปลูกสร้าง 4 ชิ้นที่ฝังซ่อนอยู่ใต้ดิน นอกจากนั้น เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายที่ใช้สัญญาณเรดาร์ พบจุดซึ่งน่าจะเป็นประตูทางเข้าสุสานอยู่ลึกลงไปใต้ผิวดินราว 5 เมตรอีกด้วย

ซาฮี ฮาวาสส์ แสดงความมั่นใจสูงว่าจะพบสุสานในพื้นที่ขุดค้นใหม่นี้ แม้จะไม่แน่ใจนักว่าเป็นสุสานของผู้ใด แต่จากหลักฐานที่พบก่อนหน้าการขุดค้น มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าจะเป็นสุสานของอังเคสเซนนามุน ซึ่งเดิมเป็นพระมเหสีของตุตันคามุน แต่กลับเสกสมรสกับอัยย์ไม่นานหลังจากที่ตุตันคามุนสิ้นพระชนม์

Advertisement

หลังการแต่งงานดังกล่าว ก็ไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันเอ่ยถึงอังเคสเซนนามุน อีกเลย ทำให้ไม่มีข้อมูลว่าพระนางสิ้นพระชนม์เมื่อใด ด้วยสาเหตุใด และถูกกลบฝังไว้ที่ใด

อนึ่ง ฟาโรห์อียิปต์โบราณมีมเหสีได้หลายพระองค์ ในขณะที่ในสุสานของ อัยย์ มีหลักฐานระบุถึงเพียงแค่มเหสีอีกพระองค์คือพระราชินีเทย์เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image