เผยเหตุ ‘ซิการ์อวกาศ’ มาเยือนระบบสุริยะ

โออูมูอามูอามีความยาว 200 เมตร (ภาพ-Joy Pollard / Gemini bservatory/AURA / NSF.)

ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยควีนส์ ซึ่งเฝ้าติดตามศึกษาพฤติกรรมของ “โออูมูอามูอา” ดาวเคราะห์น้อยดวงแรกจากระบบดาวฤกษ์อื่นที่เดินทางมาเยือนระบบสุริยะ เปิดเผยข้อสันนิษฐานที่มาของรูปลักษณะประหลาดยาวเรียวคล้ายซิการ์ของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ รวมทั้งที่มาของพฤติกรรมหมุนไม่เหมือนใครของดาวเคราะห์น้อยที่ถูกตั้งฉายาว่า “ซิการ์อวกาศ” อีกด้วย

ดร.เวส เฟรเซอร์ ระบุว่านักเดินทางข้ามระบบดาวดวงนี้มีลักษณะการหมุนรอบตัวเองแบบไม่เป็นระเบียบเหมือนถูกปั่น ซึ่งทางทีมสังเกตการณ์เรียกว่า “ทัมบลิง” หรือการหมุนตีลังกา และเป็นการค้นพบที่สร้างความทึ่งให้กับทีมสังเกตการณ์เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากลักษณะหลายๆ อย่างที่ผิดไปจากปกติของ “โออูมูอามูอา” ที่สังเกตพบ นับตั้งแต่มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ลักษณะเรียวยาว ซึ่งส่วนที่ยาวที่สุดของมันมีความยาวถึง 200 เมตร เรื่อยไปจนถึงเส้นทางโคจร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโออูมูอามูอาเดินทางมาจากระบบดาวอื่น ไม่ใช่มาจากแหล่งกำเนิดดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะแต่อย่างใด

ทีมสังเกตการณ์พยายามติดตามสังเกตโออูมูอามูอา เพราะต้องการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าธรรมชาติของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เป็นอย่างไร และมีอัตราการหมุนรอบตัวเองที่แน่นอนอย่างไร โดยอาศัยการเฝ้าติดตามศึกษาการเปลี่ยนแปลงความสว่างของมันที่แตกต่างกันออกไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดร.เฟรเซอร์และทีมงานพบว่า โออูมูอามูอาไม่ได้หมุนรอบตัวเองเป็นคาบที่กำหนดตายตัวเหมือนดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กดวงอื่นๆ แต่เป็นการหมุนแบบไม่เป็นระเบียบ ซึ่งถูกเรียกว่าการทัมบลิง สาเหตุของการหมุนรอบตัวเองแบบแปลกๆ ดังกล่าวนั้น มีคำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดว่าสาเหตุมาจากการถูกชนโดยเทหวัตถุอื่นในอดีตที่ผ่านมาช่วงใดช่วงหนึ่งนั่นเอง

ทีมสังเกตการณ์ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าการชนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อใด แต่สามารถบอกได้ว่า มันจะหมุนเหวี่ยงรอบตัวเองแบบแปลกๆ เช่นนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 1,000 ล้านปี ลักษณะการหมุนแบบนี้จะก่อให้เกิดทั้งแรงกดและแรงดึงภายในตัววัตถุ และจะก่อให้เกิดทั้งแรงกดและแรงดึงต่อตัววัตถุอย่างช้าๆ แต่แน่นอน เหมือนกับกระแสน้ำที่หมุนวนบนโลก ทั้งนี้ก็เพื่อปลดปล่อยพลังเหล่านั้นออกไป ซึ่งจะกินเวลานานมากๆ

Advertisement
ภาพแสดงการถูกชนของโออูมูอามูอา (ภาพ-BBC)

การชนดังกล่าวนอกจากจะทำให้โออูมูอามูอาหมุนแกว่งแบบไม่เป็นระเบียบแล้ว เชื่อว่ายังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มันถูกเตะออกมาจากระบบดาวหรือจากกลุ่มดาวที่ก่อกำเนิดมันขึ้นมา แต่ ดร.เฟรเซอร์ยอมรับว่า ยากที่จะบอกได้ว่าการชนดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงของการก่อตัวของดาวเคราะห์ในระบบดาวดังกล่าว หรือเกิดการชนขึ้นหลังจากเกิดระบบดาวขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว แต่จากองค์ความรู้เดิมที่มักเกิดการชนขึ้นบ่อยครั้งในช่วงกำเนิดดาวเคราะห์ของระบบดาว ทำให้การคาดเดาว่าการชนของโออูมูอามูอาเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากกว่า

แต่หากมีกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงถ่ายภาพหลุมที่เกิดจากการชนดังกล่าวบนโออูมูอามูอาได้ก็น่าจะได้ความกระจ่างมากกว่านี้ แต่ในเวลานี้ยังไม่มี

ดร.เฟรเซอร์ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่มีเทหวัตถุจากนอกระบบสุริยะผ่านเข้ามาในระบบสุริยะภายในวงโคจรของดาวเกตุ หรือดาวเนปจูน ดาวเคราะห์ดวงที่ 8 ของระบบสุริยะไม่น้อยกว่า 10,000 ดวง แต่ตรวจสอบไม่พบ เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กและไม่มีแสงสว่างในตัวเอง

Advertisement

ทีมสังเกตการณ์คาดหวังว่า เมื่อหอสังเกตการณ์ใหม่ที่เรียกว่า “ลาร์จ ไซนอปติก เซอร์เวย์ เทเลสโคป” (แอลเอสเอสที) ซึ่งใช้กระจกรวมแสงหลักขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางถึง 8.4 เมตร ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในประเทศชิลี จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า การตรวจสอบหาดาวเคราะห์น้อยต่างระบบก็จะเป็นไปได้สูงมาก

แอลเอสเอสทีจะถ่ายภาพท้องฟ้าในแต่ละตำแหน่งที่สำรวจถึงได้ทุกๆ 2-3 วัน หากมีวัตถุเคลื่อนผ่านท้องฟ้าแบบเดียวกับโออูมูอามูอา ก็ยากที่จะเลี่ยงการตรวจพบได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image