นาซาจับมือเกาหลีทำภารกิจ CANYVAL-X ในปีนี้

ทีมวิศวกรองค์การนาซาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei university) และสถาบันวิจัยการบินอวกาศเกาหลี (Korea Aerospace Research Institute) ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับการตรวจจับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะให้เป็นจริง

โครงการนี้มีชื่อว่า CANYVAL-X (the CubeSat Astronomy by NASA and Yonsei using Virtual Telescope Alignment eXperiment) ซึ่งตัวทดสอบจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศกลางปี 2016 ด้วยจรวดฟอลคอนของบริษัทสเปซเอ็กซ์

พวกเขาจะส่งดาวเทียมขนาดเล็กที่เรียกว่า CubeSat จำนวน 2 ดวงไปเรียงตัวกันอยู่ในอวกาศในตำแหน่งที่ต้องการอย่างแม่นยำ เพื่อให้มันปฏิบัติงานเหมือนเป็น กล้องโทรทรรศน์หนึ่งตัวที่สามารถสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยดาวเทียมทั้งสองดวงจะเรียงตัวเป็นเส้นตรงกับดาวฤกษ์ที่ต้องการสังเกตในระยะเวลาที่นานพอจะทำการเก็บข้อมูล ซึ่งการส่งดาวเทียมในครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อทดสอบการเรียงตัวดังกล่าว

นาซาเกาหลี02

Advertisement

เทคโนโลยีนี้อาศัยหลักการเดียวกับคอโรนากราฟ (coronagraphs) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการศึกษาชั้นบรรยากาศคอโรนาของดวงอาทิตย์ โดยปกติคอโรนาซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศนอกสุดของดวงอาทิตย์ที่อ่อนแสงจะถูกแสงอาทิตย์ที่สว่างจ้ากลบจนไม่สามารถตรวจจับได้ คอโรนากราฟจึงประกอบไปด้วยตัวบังแสงอาทิตย์ (occulter) และตัวตรวจจับชั้นบรรยากาศคอโรนา พูดง่ายๆ ว่าเหมือนเอามือบังแสงอาทิตย์จ้าๆ เพื่อมองทิวทัศน์รอบๆ นั่นเอง ซึ่งระบบดาวเทียมดังกล่าวจะมีดาวเทียมดวงหนึ่งบังแสงดาวฤกษ์เพื่อให้ดาวเทียมอีกดวงตรวจจับสิ่งที่อยู่รอบๆ ดาวฤกษ์อย่างดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้

สิ่งที่อยู่ในมือวิศวกรคือ Micro Cathode Arc Thruster ที่ช่วยให้ดาวเทียมทั้งสองเรียงตัวกันเป็นเส้นตรงกับเป้าหมายได้

ปัจจุบันคอโรนากราฟที่ใช้งานอยู่มีลักษณะเป็นกล้องโทรทรรศน์ชิ้นเดียว กล่าวคือ ตัวบังแสงและตัวตรวจจับอยู่ใกล้กันมาก แต่นักดาราศาสตร์พบว่ายิ่งตัวบังแสงอยู่ห่างจากตัวตรวจจับได้ก็ยิ่งดี ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ตัวบังแสงอาทิตย์ก็คือดวงจันทร์ซึ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์และอยู่ห่างจากผู้สังเกตบนโลกทำให้เราสามารถเห็นชั้นบรรยากาศคอโรนาของดวงอาทิตย์ได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่า

Advertisement

นาซีเกาหลี03

โครงการ CANYVAL-X จึงวางตำแหน่งตัวบังแสงให้อยู่ห่างจากตัวตรวจจับ 10 เมตร ซึ่งความท้าทายคือต้องให้ตัวบังแสง,ตัวตรวจจับและดาวฤกษ์ที่สนใจเรียงเป็นเส้นตรง

ถ้าภารกิจนี้สำเร็จนี่อาจเป็นยุคใหม่สำหรับเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์อวกาศก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image