‘สมองกลลอยได้’ ผู้ช่วยใหม่บนไอเอสเอส

(ภาพ-Airbus)

นักบินอวกาศที่ขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้เป็นต้นไป จะมีเพื่อนร่วมทางใหม่เป็นสมองกลที่ล่องลอยไปมา เพื่อทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วย” ทั้งในการทำงานวิจัยและการใช้ชีวิตประจำวัน และถือเป็นสมาชิกใหม่ประจำสถานีอวกาศไอเอสเอสต่อไป

ชื่ออย่างเป็นทางการของ “สมองกลลอยได้” ดังกล่าวคือ “เพื่อนร่วมทางแบบมีปฏิสัมพันธ์ของลูกเรือ” หรือ “คริว อินเตอร์แอคทีฟ โมบายล์ คอมแพเนียน” เรียกสั้นๆ ว่า “ไซมอน” สร้างขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บริษัทผู้ออกแบบเครื่องบิน “แอร์บัส” ของยุโรปกับ บริษัทซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ชื่อดังอย่าง “ไอบีเอ็ม” ของสหรัฐอเมริกา ตัวเครื่องทรงกลมพร้อมหน้าจอด้านหน้า วัสดุที่ใช้เป็นส่วนผสมระหว่างพลาสติกกับโลหะ ที่พรินต์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถทำงานอัตโนมัติด้วยตัวเอง โดยจะ “ล่องลอย” ไปมาภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบไมโครกราวิตีของสถานีอวกาศ

ภายในเครื่องติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งจะควบคุมการทำงานของมัน ทั้งที่เป็นการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกเรือ เช่น แสดงข้อมูลต่างๆ ที่นักบินอวกาศอ่านออกมา ผ่านทางหน้าจอ หรือแสดงผลเป็นใบหน้าที่แสดงสีหน้าเป็นมิตร พร้อมกับเสียงสังเคราะห์ ที่เกิดจากผลงานของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของไอบีเอ็ม

“ไซมอน” หุ่นยนต์ที่ลอยตัวไปมานี้ จะเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกบนไอเอสเอสที่ใช้ระบบปฏิบัติการพื้นฐานที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ผู้สร้างของมันบอกว่าไซมอน อาจเรียกได้ว่าเป็น “สมองที่บินได้” ตัวแรกอีกด้วย

Advertisement

ไซมอน เป็นจักรกลชาญฉลาดที่สามารถให้ความช่วยเหลือต่อนักบินอวกาศที่เป็นลูกเรือ แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานประจำบนสถานีอวกาศ โดยการประมวลและแสดงผลข้อมูลที่ผ่านการสังเคราะห์หรือวินิฉัยออกมาให้ลูกเรือได้รับรู้ตามที่ลูกเรือต้องการ แต่เนื่องจากระบบของไซมอนเป็นระบบ “นิวรัล เน็ตเวิร์ก” หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบการทำงานของระบบประสาทของมนุษย์ ทำให้ไซมอนสามารถก้าวรุดหน้าไปไกลกว่าการเป็นคอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูล หรือวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยการแสดงปฏิสัมพันธ์กับลูกเรือ เสมือนหนึ่งเป็น “เพื่อนร่วมงาน” ซึ่งกันและกันได้อีกด้วย

“ไซมอน” น้ำหนักราว 5 กิโลกรัม ขณะนี้อยู่ระหว่างการ “ฝึก” ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในนักบินอวกาศ ร่วมกับอเล็กซานเดอร์ เกิร์สท์ ตัวแทนของ องค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่บนไอเอสเอสมาแล้ว ระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2014 และจะกลับไปปฏิบัติหน้าที่บนไอเอสเอสอีกครั้งตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงเดือนตุลาคมปีนี้ เพื่อปฏิบัติภารกิจภายใต้โครงการ “โฮไรซันส์ มิสชัน” ของอีเอสเอ

ทีมเจ้าหน้าที่เทคนิค 50 คนทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2016 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ “ไซมอน” ในการทำหน้าที่บนไอเอสเอส ตั้งแต่การป้อนข้อมูลเกี่ยวกับไอเอสเอส ข้อมูลการเดินทางขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และการเตรียมการให้ไซมอนเรียนรู้การกำหนดตำแหน่งและทิศทางของตัวเอง รวมทั้งการเคลื่อนที่ไปมาแบบเป็นอิสระ ในเวลาเดียวกันเอไอที่ติดตั้งไว้ในไซมอนก็ต้องเรียนรู้แบบแปลนของไอเอสเอส ทำความคุ้นเคยกับนักบินอวกาศเกิร์สท์ ทั้งที่ผ่านภาพถ่ายและตัวอย่างเสียงของเกิร์สท์พร้อมกันไปด้วย

Advertisement

เมื่อขึ้นสู่อวกาศ ไซมอนจะทำงานร่วมกับลูกเรือต่างๆ ในภารกิจชุดหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งการทำงานทดลองกับผลึกคริสตอล, ทดลองแก้ปัญหารูบิค คิวบ์

นอกจากนั้นยังจะร่วมอยู่ในการทดลองทางการแพทย์ ซึ่งไซมอนจะทำหน้าที่เป็นกล้องชนิดที่มีปฏิสัมพันธ์ได้ตลอดปฏิบัติการทดลองดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image