ภารกิจ ‘ฉางเอ๋อ 4’ จีนเล็งสำรวจดวงจันทร์ 2 ระยะ

(ภาพ-CNSA)

เจ้า เซี่ยวจิน เจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก องค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน (ซีเอเอสที หรือคาสท์) เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าทางการจีนกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจในอวกาศเพื่อสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ 2 ระยะที่ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ภารกิจฉางเอ๋อ” ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้บรรลุผลภายในปีนี้

นายเจ้าให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์กลางของจีน (ซีซีทีวี) ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2018 นี้ จีนจะเริ่มภารกิจฉางเอ๋อระยะแรก ด้วยการจัดส่งดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาณไปยังจุด ลาแกรนจ์ แอล2 (จุด ลาแกรนจ์ เป็นจุดที่มีความสมดุลระหว่างแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์กับแรงดึงดูดของโลก ทำให้ดาวเทียมที่อยู่ในจุดดังกล่าวมีวงโคจรเสถียรตลอดเวลา จุดลาแกรนจ์มีอยู่หลายจุด เรียกว่า แอล1, แอล2 เรื่อยไปจนถึงแอล5) เพื่อให้ดาวเทียมดังกล่าวทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณวิทยุเพื่อเชื่อมต่อการติดต่อระหว่างซีกด้านไกลสุดของดวงจันทร์ซึ่งเป็นด้านตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์และมืดมิดตลอดเวลากับหอควบคุมภาคพื้นดินบนโลกได้ ไม่ถูกบังจนขาดการติดต่อเหมือนก่อนหน้านี้ และจะช่วยให้สามารถควบคุมยานสำรวจดวงจันทร์ และรับส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาณดังกล่าวได้

หลังจากนั้นในครึ่งหลังของปีนี้ ทางการจีนจะจัดส่งยานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ลำใหม่ คือ “ฉางเอ๋อ 4” ไปลงบนพื้นผิวด้านมืดของดวงจันทร์เพื่อตรวจสอบศึกษา วิเคราะห์ ทั้งบริเวณจุดลงจอดเรื่อยไปจนถึงการตระเวนสำรวจในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป

โครงการฉางเอ๋อเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ของจีนดำเนินมาตั้งแต่ปี 2007 เมื่อจีนส่ง ฉางเอ๋อ1 ไปเป็นดาวเทียมโคจรอยู่โดยรอบดวงจันทร์ ต่อมาในปี 2010

Advertisement

ฉางเอ๋อ 2 ยานหุ่นยนต์ที่ไม่มีคนบังคับก็เดินทางไปโคจรอยู่โดยรอบดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จ องค์การอวกาศจีน (ซีเอ็นเอสเอ) พัฒนาการสำรวจดวงจันทร์ไปอีกขั้นเมื่อส่ง ฉางเอ๋อ3 ขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์แล้วส่งยาน

หุ่นยนต์สำหรับการลงจอดลำแรกไปลงยังพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ แล้วปล่อย “ยวี่ทู่” (กระต่ายหยก) ยานสำรวจพื้นผิวออกไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ได้อีกด้วย

“ฉางเอ๋อ 4” เดิมที ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นยานสำรองในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดหมายขึ้นกับ ฉางเอ๋อ 3 แต่ เจ้า เซี่ยวจิน ยืนยันว่าทั้งรายละเอียดของภารกิจและความสามารถของ ฉางเอ๋อ4 แตกต่างออกไปจากภารกิจของ ฉางเอ๋อ 3 ที่เป็นยานคู่แฝดโดยสิ้นเชิง เช่น รูปแบบของการร่อนลงจอด ซึ่ง ฉางเอ๋อ3 ใช้วิธีการร่อนลงจอดแบบช้าๆ เป็นวิถีโค้ง ในขณะที่ยาน ฉางเอ๋อ 4 จะลงจอดในแบบที่เกือบจะเป็นแนวดิ่ง ซึ่งทำให้จำเป็นต้องคำนวณและรับมือกับความชันของการลงจอดครั้งใหม่นี้ด้วย นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถใหม่ๆ หลายอย่างให้กับ ฉางเอ๋อ4 เพื่อให้รองรับเทคโนโลยีใหม่และทำงานใหม่ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น ฉางเอ๋อ3 จะหยุดการทำงานในตอนกลางคืน แต่ฉางเอ๋อ4 จะสามารถดำเนินภารกิจตรวจวัดค่าต่างๆ ต่อไปได้ในตอนกลางคืน เป็นต้น

Advertisement

นอกเหนือจากภารกิจ ฉางเอ๋อ4 2 ระยะดังกล่าวแล้ว เป่ย เจ้ายู่ รองผู้อำนวยการศูนย์เพื่อโครงการอวกาศและโครงการสำรวจดวงจันทร์ของซีเอ็นเอสเอ เปิดเผยด้วยว่า จีนเตรียมการภารกิจต่อเนื่องในการสำรวจพื้นผิวบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพื่อศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยาและองค์ประกอบของสินแร่ของพื้นผิวในบริเวณนั้น

โดยเตรียมจัดตั้งสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเป็นฐานรองรับการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image