กรณี ‘เคมบริดจ์ อนาไลติกา’ อีกบทเรียนของผู้ใช้ ‘เฟซบุ๊ก’

(AP Photo/Jeff Chiu, File)

หนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ส ของสหรัฐอเมริกา กับหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน แห่งอังกฤษ จับมือกันทำรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนร่วมกันอีกครั้ง ผลที่ได้คือกรณีอื้อฉาวใหม่ที่ถูกเรียกว่า “อนาไลติก ไฟล์ส” ซึ่งเปิดโปงออกมาเมื่อ 18 มีนาคมที่ผ่านมา อื้อฉาวชนิดที่ทำให้ราคาหุ้นของเฟซบุ๊กลดลงในการซื้อขายวันนั้นวันเดียว 6.8 เปอร์เซ็นต์

คิดเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 900,000 ล้านบาท

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ความเสียหายดังกล่าวเป็นเพียงแค่การ “เริ่มต้น” เท่านั้น

กรณี “อนาไลติก ไฟล์ส” เริ่มต้นจากบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษใช้ชื่อว่า “เคมบริดจ์ อนาไลติกา” ที่เสนอบริการให้กับ “องค์กรธุรกิจ” และ “พรรคการเมือง” ใดก็ตามที่ต้องการ “เปลี่ยนพฤติกรรมผู้รับสาร” ไปสู่ทิศทางที่ต้องการ โดยอาศัยข้อมูลจาก “โซเชียลมีเดีย” ทั้งหลายรวมทั้ง “เฟซบุ๊ก” ผสมผสานกับการทำโพลของบริษัทเอง

Advertisement

หนึ่งในผู้ใช้บริการของ “เคมบริดจ์ อนาไลติกา” คือ โดนัลด์ ทรัมป์ คนที่จ่ายเงิน “15 ล้านดอลลาร์” เป็นค่าบริการดังกล่าวคือ โรเบิร์ต เมอร์เซอร์ นายทุนใหญ่ของทรัมป์ ที่เป็นนายทุนหลักของเว็บไซต์แนวทางขวาสุดโต่งอย่าง บรีทบาร์ท อยู่ด้วย คนที่แนะนำ เคมบริดจ์ อนาไลติกา ให้กับเมอร์เซอร์ คือ สตีฟ แบนนอน ซึ่งเป็นทั้งกรรมการบริหาร (บอร์ด) ของบรีทบาร์ทจนกระทั่งถึงปี 2016 และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ในช่วงสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แล้วมารับหน้าที่เป็นประธานทีมยุทธศาสตร์ทำเนียบขาวให้ทรัมป์ ก่อนถูกปลดในเวลาต่อมา

ประเด็นกล่าวหาที่สำคัญก็คือ เพื่อการรณรงค์หาเสียงดังกล่าว “เคมบริดจ์ อนาไลติกา” ใช้ข้อมูล “บางส่วน” ของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายล้านรายในสหรัฐอเมริกาไปใช้โดยที่เจ้าของแอคเคาท์เฟซบุ๊กเหล่านั้นไม่ได้รับรู้หรือให้ความเห็นชอบ

“เคมบริดจ์ อนาไลติกา” ได้ข้อมูลเหล่านั้นมาจากไหน? คริสโตเฟอร์ ไวลี ชายชาวแคนาดา ที่เคยทำงานอยู่กับ เคมบริดจ์ อนาไลติกา ก่อนมาทำงานให้กับสื่อโทรทัศน์ในแคนาดา บอกว่า ได้จาก อเล็กซานเดร โคแกน เจ้าของบริษัท โกลบอล ไซน์ซ รีเสิร์ช (จีเอสอาร์) ซึ่ง เฟซบุ๊กว่าจ้างเมื่อปี 2014 ให้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับใช้งานในหน้าเฟซบุ๊ก แอพพ์ดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กอเมริกัน “ทดสอบบุคลิกภาพ” ของตนเอง โดยมีเงินจ่ายตอบแทน แต่ยังเก็บข้อมูลของบรรดาผู้ที่เป็น “เฟรนด์” ของผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวไปด้วย

Advertisement

สุดท้ายแล้ว โคแกน ได้ข้อมูล “โปรไฟล์” และ “บุคลิกเชิงจิตวิทยา” ของผู้ใช้เฟซบุ๊กอเมริกันไปราว 50 ล้านราย ผลที่ได้นั้น “แชร์” ให้กับเฟซบุ๊กด้วยตามข้อตกลง

แต่ที่เฟซบุ๊กยอมรับว่า ไม่รู้ก็คือ จีเอสอาร์ มีสัญญา “แชร์ข้อมูล” ดังกล่าวให้กับ “เคมบริดจ์ อนาไลติกา” ด้วย

ตามคำบอกเล่าของ ไวลี เคมบริดจ์ อนาไลติกา นำเอาข้อมูลทั้งหมดนั้นมาใช้ในการสร้าง โปรแกรมซอฟต์แวร์ ที่ทรงพลังในการ “ทำนาย” และ “สร้างอิทธิพล” ต่อการกากบาทในบัตรเลือกตั้งของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ในแบบที่ คริสโตเฟอร์ ไวลี เรียกว่าเป็นการ

“ให้บริการโฆษณาชวนเชื่อเต็มรูปแบบ” โดยที่ข้อมูล “ส่วนบุคคล” ส่วนใหญ่ที่นำไปใช้นั้น “นำเอาไปใช้โดยไม่ได้รับอำนาจให้ใช้” อย่างถูกต้องทั้งหมด

ขนาดที่ อเล็กซานเดอร์ นิกซ์ ผู้ก่อตั้ง “เคมบริดจ์ อนาไลติกา” ถึงกับติดต่อกับ จูเลียน แอสแซนจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ สอบถามว่า เขาจะช่วยปล่อยข้อมูลอีเมล์ที่เกี่ยวข้องกับ ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งสำคัญของทรัมป์ได้หรือไม่

ประเด็นที่น่าสนใจในกรณี “อนาไลติก ไฟล์ส” นี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็นหลักๆ หนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ เฟซบุ๊ก ถูกกล่าวหามาตลอดนับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 เรื่อยมาว่า บริษัทปล่อยให้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ผิด, บิดเบือน, และเป็นเท็จ

แต่อีกประเด็นหนึ่งนั้นหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า นั่นคือ เฟซบุ๊กไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการของตนได้ แล้วปล่อยให้มีคนฉกเอาข้อมูลเหล่านั้นไปใช้โดยที่เจ้าของข้อมูลไม่รู้เห็นและยินยอมด้วยซึ่งเข้าข่ายเป็นการละเมิดความตกลงที่ทำไว้กับคณะกรรมการกำกับดูแลการค้ากลาง (เอฟซีที) ว่าด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการของตนเมื่อปี 2011

เป็นฐานความผิดซึ่งผู้ละเมิดต้องถูก “ลงโทษทางการเงิน” ซึ่งหมายถึงการปรับเงินเป็นจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะมากมายแค่ไหน เฟซบุ๊กคงยอมรับได้

แต่ในเวลาเดียวกันในทางการเมืองก็เริ่มตั้งคำถามขึ้นมาแล้วว่า เฟซบุ๊ก “โตเร็วเกินไป” และ “ใหญ่โตมากเกินไป” จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้แล้วหรือไม่? บางคนเรียกร้องให้เฟซบุ๊ก “เปลี่ยนแปลง” ตัวเอง ก่อนที่จะถูกองค์กรอย่าง “เอฟซีที” ลงมือบังคับ

ปัญหาใหญ่โตกว่าที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ความเชื่อถือที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กแต่ละรายมีต่อบริษัท ทำอย่างไรผู้ใช้เฟซบุ๊กถึงจะแน่ใจได้ว่าข้อมูลในหน้าเพจของตนเองจะไม่ถูกนำไปใช้โดยที่ตนเองไม่รับรู้อีกต่อไป

ตอนนี้ เริ่มมีผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่ง “ดีลีท” แอคเคาท์ของตนเองและเรียกร้อง (ผ่านทวิตเตอร์) ให้คนอื่นๆ ทำตาม เป็นการประท้วงกลายๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว

เพราะจนถึงขณะนี้ นี่เป็นทางเดียวสำหรับผู้ใช้ที่รู้สึกว่าไม่ต้องการถูกเฟซบุ๊ก “จูงจมูก” อีกต่อไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image