โล่ง! “เทียนกง-1” ตกลงมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ไร้ความเสียหาย

เว็บไซต์สำนักงานอวกาศของจีน (ซีเอ็มเอสเอ) รายงานว่า จากการเฝ้าดูและวิเคราะห์ของศูนย์ควบคุมยานอวกาศปักกิ่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า สถานีอวกาศเทียนกง-1 ของจีน ได้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก เมื่อเวลา 07.15 น. เมื่อวันที่ 2 เมษายน ตามเวลาในไทย และได้ตกลงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และชิ้นส่วนทั้งหมดของเทียนกง-1 ได้ถูกเผาไหม้ไประหว่างการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ไม่มีรายงานความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นจากการตกของเทียนกง-1 แต่อย่างใด

ด้านนายสิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจร จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สถานีอวกาศเทียนกง-1 ของจีนได้ตกสู่พื้นโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริเวณกลางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ตามที่ได้มีการคาดการณ์ไว้แต่แรก โดยสถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ และแตกเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็ก อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ชิ้นส่วนสถานีอวกาศเทียนกง-1 เป็นสมบัติของจีนที่ห้ามใครเก็บไว้เป็นของส่วนตัว และหากใครพบชิ้นส่วนดังกล่าวให้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หากชิ้นส่วนอวกาศ ส่งผลให้เกิดอันตรายหรือสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน รัฐบาลของประเทศเจ้าของดาวเทียมหรือสถานีอวกาศ จะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ สถานีอวกาศ ‘เทียนกง-1’ ของจีน ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 จากฐานปล่อยจรวดเมืองจิ๋วฉวน มณฑลกานซู มีวงโคจรห่างจากโลก 350 กม. มีขนาด 8.5 ตัน และเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีน โดยสถานีอวกาศเทียนกง ได้ถูกส่งขึ้นไปเพื่อทดสอบปฏิบัติการหลายอย่างในอวกาศ เพื่อเตรียมการขั้นต้นสำหรับการสร้างสถานีอวกาศของจีนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563 โดยเทียนกง-1 มีความพิเศษไม่เหมือนกับยานลำก่อนๆของจีน ซึ่งภายในตัวยานได้ติดตั้งระบบการเชื่อมต่อไว้มากมาย รวมถึงเตรียมรอรับการเชื่อมต่อยานอวกาศไร้มนุษย์เสิ่นโจว 8 ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกของจีนที่จะเชื่อมต่อยานอวกาศที่เคลื่อนที่อยู่ในวงโคจร และจีนจะเป็นประเทศที่ 3 ต่อจาก สหรัฐฯ และรัสเซียที่มีเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อยานอวกาศในวงโคจร และมีกำหนดว่าจะควบคุมให้กลับสู่โลกลงสู่ทะเล หรือเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2559 คณะผู้แทนถาวรจีนประจำสหประชาชาติ แจ้งไปยังสหประชาชาติว่าจะดำเนินการปลดระวางสถานีอวกาศเทียนกง-1 และได้ตกสู่พื้นโลกในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image