เกษตรกรรมแบบปิด จากโลกสู่อวกาศ

มนักวิทยาศาสตร์เยอรมนี ประสบความสำเร็จในการทดลองทำเกษตรกรรมในพื้นที่ปิด บนลานน้ำแข็งใกล้สถานีทดลองแอนตาร์กติก หวังพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งอาหารในสถานีอวกาศนานาชาติและการสำรวจห้วงอวกาศในอนาคต

เรือนเพาะปลูกระบบปิดดังกล่าวมีขนาดประมาณตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้า ถูกเรียกว่า “อีเดนไอเอสเอส” ถูกเคลื่อนย้ายมาติดตั้งไว้บน เอคสตรอม ไอซ์ เชลฟ์ แผ่นน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติก ห่างจาก นูเมย์เออร์ สเตชัน ทรี ห้องวิจัยแอนตาร์กติกของเยอรมนีเพียง 400 เมตร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นแหล่งทดลองและเก็บข้อมูลการทำการเกษตรในระบบปิด โดยผลที่ได้นอกจากจะใช้เป็นอาหารสดสำหรับทีมวิจัยขั้วโลกใต้ที่นำโดย เบิร์นฮาร์ด กร็อปป์ แล้ว ทางศูนย์การบินอวกาศแห่งเยอรมัน (ดีแอลอาร์) ยังหวังจะใช้เป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาหาวิธีการที่ดีที่สุดในการผลิตอาหารสดให้กับนักบินอวกาศในการสำรวจอวกาศในอนาคตอีกด้วย

พอล ซาเบล นักวิทยาศาสตร์ประจำดีแอลอาร์ ผู้ดูแลระบบ ระบุว่า ยกเว้นเรื่องแรงโน้มถ่วงแล้ว ทวีปแอนตาร์กติกมีสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกับในอวกาศไม่น้อย เนื่องจากภายนอกเป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นปฏิปักษ์เช่นเดียวกัน ไม่มีดินเช่นเดียวกับในอวกาศ และไม่มีแสงแดดที่เป็นแสงธรรมชาติด้วย ระบบเพาะปลูกภายใน “อีเดนไอเอสเอส” จำเป็นต้องทำเป็นระบบปิดโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกัน โดยนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องคำนวณการให้น้ำ เช่นเดียวกับการให้แสงสีม่วงซึ่งใช้เป็นแสงแดดเทียม และระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จำเป็นต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด

Advertisement

ระบบการเกษตรแบบเดียวกันนี้ จึงสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้นักบินอวกาศที่ไปใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เป็นระยะเวลายาวนานได้ เช่นเดียวกับสามารถพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นบนดวงจันทร์ หรือดาวอังคารในอนาคต

ซาเบลระบุว่า ระบบอีเดน ไอเอสเอสนั้น มีหลายส่วนที่สามารถควบคุมจากระยะไกลได้ อย่างไรก็ตาม ซาเบลตัดสินใจเดินทางมาร่วมอยู่ในสถานีวิจัยบนแอนตาร์กติก เพื่อดูแลพืชพรรณที่ปลูกได้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น จนถึงต้นเดือนเมษายนนี้ ซาเบลสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายอย่าง มีผักกาดหอม 3.6 กิโลกรัม, หัวผักกาดหนูแรดิช 70 หัว และแตงกวา 18 ลูก ถือเป็นการเก็บเกี่ยวครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มทดลองในเดือนกุมภาพันธ์

นอกเหนือจากพืชเหล่านั้นแล้ว ภายในอีเดนไอเอสเอส ยังมี โหระพา, ผักชีฝรั่ง, กุยช่าย และผักชี ปลูกไว้เป็นการทดลองอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีการทดลองตัดต่อมะเขือเทศเข้ากับเถาองุ่น และกำลังรออยู่ด้วยว่าต้นสตรอเบอรี่ซึ่งเป็นไม้ประเภทที่อ่อนไหวมากที่สุดเท่าที่นำมาทดลองนั้นจะเพาะขึ้นมาได้สำเร็จหรือไม่ภายในสภาพแวดล้อมของอีเดนไอเอสเอส

Advertisement

คาดว่าในราวปลายเดือนพฤษภาคม ระบบทั้งหมดของอีเดนไอเอสเอสจะทำงานได้ครบสมบูรณ์ ทำให้หลังจากนั้นแหล่งอาหารสดนี้จะสามารถผลิตผักสดได้ถึง 5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image