นักวิจัยเตือน “นั่งนาน” ส่งผลกระทบ “สมอง”

(ภาพ-Pixabay)

งานวิจัยทางการแพทย์ชิ้นใหม่ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (ยูซีแอลเอ) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการพลอสวัน เมื่อวันที่ 12 เมษายนนี้ พบว่า พฤติกรรมการอยู่นิ่งเฉย ไม่ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นการนั่งอยู่กับโต๊ะทำงานนานๆ ตลอดทั้งวัน ของคนวัยกลางคนเรื่อยไปจนถึงคนชรา มีส่วนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงส่วนของสมองซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อความจำ

งานศึกษาวิจัยดังกล่าวอาศัยการตรวจสอบจากกลุ่มตัวอย่าง 35 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 45 ถึง 75 ปี เริ่มต้นโดยการขอให้ผู้เข้าร่วมในการวิจัยบอกเล่าเกี่ยวกับระดับกิจกรรมการออกกำลังกายของแต่ละคนในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าออกมา และบอกระยะเวลาโดยเฉลี่ยต่อวันที่แต่ละคนใช้ไปในการนั่งอยู่กับโต๊ะในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า หลังจากนั้นก็จัดการสแกนสมองของกลุ่มตัวอย่างแต่ละราย โดยอาศัยเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอที่มีความละเอียดสูง เพื่อตรวจสอบสภาพโดยละเอียดของส่วนของสมองที่เรียกว่า กลีบสมองขมับส่วนใน (medial temporal lobe) หลังจากนั้นก็นำเอาข้อมูลความหนาของกลีบสมองขมับส่วนในของกลุ่มตัวอย่างแต่ละราย มาดูว่ามีส่วนสัมพันธ์กับข้อมูลเกี่ยวกับระดับการออกกำลังกายและพฤติกรรมการนั่งอยู่กับที่อย่างไรบ้าง

ผลของการตรวจสอบพบว่า การนั่งอยู่กับที่เป็นระยะเวลานานมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความบางของกลีบสมองขมับส่วนใน ไม่ว่าระดับการออกกำลังกายของบุคคลนั้นๆ จะอยู่ในระดับใดก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมการนั่งนิ่งๆ เป็นตัวบ่งชี้ภาวะความบางของกลีบสมองขมับส่วนในอย่างมีนัยสำคัญ และการออกกำลังกายของบุคคลนั้นๆ แม้จะมีระดับสูงก็ตาม ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบในทางลบที่เป็นอันตรายจาก

การนั่งนิ่งเฉยเป็นระยะเวลานานได้

Advertisement

ข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างนั้น กลุ่มตัวอย่างใช้เวลานั่งนิ่งอยู่กับที่โดยเฉลี่ยแล้วระหว่าง 3-7 ชั่วโมงต่อวัน ผลการศึกษาใหม่นี้บ่งชี้ว่า ในแต่ละชั่วโมงที่ทุกคนนั่งนิ่งอยู่กับโต๊ะจะส่งผลกระทบให้กลีบสมองขมับส่วนในลดความหนาลงจนสังเกตพบได้ ทั้งนี้เนื่องจากสมองส่วนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บความทรงจำใหม่ๆ ความหนาบางของสมองส่วนนี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงภาวะการเข้าใจจดจำและภาวะความจำเสื่อมในคนวัยกลางคนและคนสูงวัยได้

ทีมวิจัยย้ำว่าผลการวิจัยนี้ยังคงจำกัดเนื่องจากยังไม่สามารถบ่งชี้ว่า การนั่งนานๆ นำไปสู่ภาวะสมองบางลง เพียงแต่ชี้ว่าทั้งสองอย่างมีความสัมพันธ์กันเท่านั้นยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยต่อในอีกหลายประเด็นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image