ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้
พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต
ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว
เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้


การค้นพบจิตรกรรมไทยครั้งใหม่ (ต่อจากตอนที่แล้ว)
โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
หมู่ภาพของชั้นกลางลงมา ซึ่งเป็นตอนสำคัญมาก เขียนเป็นภาพหมู่พระพุทธสาวกยืนประนมมือเรียงแถวติดต่อกันไปมีจำนวน 80 รูป รูปพระสาวกยืนเหล่านี้ เป็นแบบของอู่ทองโดยแท้ ภาพพระพุทธนั่งเรียงแถวซ้ำแบบในแถวบนสุด กับภาพพระพุทธสาวกยืนเป็นเส้นตั้งและมีท่วงท่าเป็นจังหวะ ทำให้ปริมาตรอันมีลีลาสูงๆต่ำๆ และไม่เป็นระเบียบของภาพ (2แถว) ตอนกลาง มีส่วนประสานกันได้อย่างสมบูรณ์
ตอนล่างของผนังตลอดจนบริเวณซุ้มคูหา ประดับด้วยภาพจิตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องชาดก วิธีการใช้พู่กันก็กล้า แน่นอน มั่นใจ แสดงให้เห็นว่าศิลปินมีความสามารถทางศิลปะและมีฝีมือสูงยิ่ง ชวนให้น่านิยมเสียจริงๆ ว่าศิลปินเหล่านี้ท่านเขียนภาพอย่างอิสระและอย่างฝีมือชั้นอาจารย์ทีเดียว ถ้าหากว่าท่านลากเส้นหรือปริมาตรของภาพยังไม่ถูกต้อง ท่านก็จะเขียนทับลงไปใหม่ โดยปราศจากการลังเลใจ และไม่ต้องลบของเก่าออก เพื่อปกปิดความผิดพลาดเลย

การเขียนภาพด้วยวิธีเส้นร่างเช่นนี้ เป็นงานที่จะกระทำกันได้เฉพาะบรรดาศิลปินชั้นอาจารย์ที่มีความรู้สึกสำนึกทางจิตใจอันสูงส่งเท่านั้น
การที่จะยืนยันว่าจิตรกรรมเหล่านี้เป็นศิลปะแบบใดนั้น ไม่เป็นสิ่งง่าย เพราะงานจิตรกรรมเขียนฝาผนังเช่นนี้อยู่ในระยะการเริ่มต้นของการใฝ่หาเทคนิค (เพราะจิตรกรสมัยนั้นยังไม่มีแบบศิลปะของตนเองกำหนดไว้เป็นแบบแผน) การที่จะกำหนดลงไปว่าเป็นศิลปะชนิดเริ่มแรกปราศจากฝีมือ (primitive) ก็อาจผิดพลาดได้ เพราะศิลปะของการเขียนภาพสีนั้นได้กระทำกันมานานแล้ว เช่น การเขียนภาพแทรกในหนังสือไตรภูมิ เป็นต้น
นอกจากนี้ งานประติมากรรมก็มีความรุ่งเรืองก้าวหน้ามาในอดีต ซึ่งช่วยให้เราทราบว่า จิตรกรก็จะต้องมีความรอบรู้ทางศิลปะเจริญก้าวหน้าด้วยเช่นกัน
งานประติมากรรม สมัยแรกของอยุธยาเป็นฉันใด จิตรกรรมเหล่านี้ก็ฉันนั้น แสดงว่าได้รับอิทธิพลสืบเนื่องมาจากศิลปะสมัยทวารวดี ศรีวิชัย และเขมรด้วยเหมือนกัน เมื่อกล่าวถึงอิทธิพลของศิลปะเขมร เราหมายถึงอิทธิพลที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น สกุลช่างศิลปะเขมรท้องถิ่น ที่ลพบุรีหรืออู่ทอง หรือศูนย์กลางอื่นๆ ซึ่งวัฒนธรรมเขมรได้เฟื่องฟูอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17-19 (คริสต์ศตวรรษที่ 11-13)
ในภาพจิตรกรรมเหล่านี้ หากไม่มีภาพพระพุทธรูปลีลาอยู่ด้วยแล้ว เราจะไม่อาจสังเกตเห็นได้เลยว่า มีอิทธิพลศิลปะแบบสุโขทัยปรากฏอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพจิตรกรรมเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นแบบศิลปะอู่ทอง แต่ก็ยังไม่ลงรูปเป็นแบบของตนเองโดยเฉพาะ กล่าวคือ ยังเป็นการแสดงออกโดยเสรี ซึ่งในบางกรณีก็วาดขึ้นตามรูปจริง (realistic) อย่างชัดๆ
ความจริงเราอาจสังเกตได้ว่า ศิลปินได้พยายามวาดภาพบุคคลสัญชาติต่างๆ ตามลักษณะเฉพาะในเชื้อชาติของชนเหล่านั้นเอง ส่วนภาพสัตว์นั้น ศิลปินเขียนขึ้นตามรูปเป็นจริงของสัตว์นั้นๆ รูปคน เช่นภาพพราหมณ์ 2 คนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดขาวนั้น คนหนึ่งเห็นได้ว่าเป็นพวกนิโกร เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นงานศิลปะที่ไม่ขึ้นอยู่กับแบบบัญญัตินิยม และศิลปินก็พยายามที่จะถอดถ่ายโลกซึ่งแวดล้อมอยู่รอบตัวให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริง
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558
ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
