“รุ่งโรจน์” แนะจับมือปรับปรุงหลักสูตรประวัติศาสตร์อาเซียน แก้ปมวิวาทะ”ไทย-กัมพูชา”

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

กรณีเกิดกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์กซี่งมีการเผยแพร่ภาพและข้อความเกี่ยวกับโขนไทยและกัมพูชาโดยมีการถกเถียงกันเรื่องที่มาและความเป็นเจ้าของการแสดงดังกล่าว ซึ่งเวปไซต์พนมเปญโพสต์ ของกัมพูชาระบุว่า กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสื่อไทยนำเสนอข่าวว่ากระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทยเตรียมเสนอการแสดงโขนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ต่อองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก

ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่า กระแสเรื่องโขนระหว่างไทย-กัมพูชาในขณะนี้ เป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์ชาตินิยม เพราะก่อนหน้านั้น กลุ่มคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับข้อถกเถียงในลักษณะเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะไทย-กัมพูชา ยังมีอีกกรณีอื่น เช่น อินโดนีเซียกับมาเลเซีย ซึ่งมีวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ผ้าปาเต๊ะเหมือนๆกัน หรือแม้แต่เกาหลีและญี่ปุ่น ก็เคยมีประเด็นเรื่องวัฒนธรรม ทางออกคือการปรับปรุงหลักสูตรประวัติศาสตร์

“ประเด็นเรื่องโขน เป็นผลมาจากการถูกประวัติศาสตร์ชาตินิยมยุคอาณานิคมครอบงำ ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยจะมีการแบ่งหรือแย่งกันว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของฉันคนเดียว หรือมีความรู้สึกว่าพวกเราคือคนอาเซียนนั้นมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะเขมร ไทย ลาว มีความใกล้ชิดกันมาก ประเด็นทางวัฒนธรรมแบบนี้ ไม่ได้เกิดแค่ไทยกับเขมร อินโดกับมาเลย์ก็ถกเถียงกันเรื่องผ้าปาเต๊ะ เกาหลี ญี่ปุ่นก็เป็นอีกคู่หนึ่ง ที่มีประเด็นพวกนี้ เพราะสมัยโบราณมีวัฒนธรรมร่วมกัน รับส่งกันไปมา ทางแก้ไขคือ ปรับปรุงหลักสูตรประวัติศาสตร์ ทั้งฝั่งเราและกัมพูชา รวมถึงทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน” นายรุ่งโรจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image