เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน ร่วมกันถ่ายทำรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘หมอลำ พลังลาว ชาวอีสาน’ ดำเนินรายการโดย นายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร
นายสุจิตต์ กล่าวว่า วัดปทุมวนารามฯ เป็นวัดสำคัญที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์ลาวโดยเฉพาะ พระประธานก็มาจากลาว จิตรกรรมในพระวิหารยังเขียนเรื่อง ‘เซียงเมี่ยง’ วรรณกรรมลุ่มน้ำโขง ซึ่งตรงกับเรื่องศรีธนญชัยของภาคกลาง ชุมชนรอบวัด เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของ ‘ลาวเวียง’ คือคนลาวจากเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์
จากนั้น นายสุจิตต์ กล่าวถึง ‘หมอลำ’ ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่ ‘หมอแคน’ คือ คนเป่าแคนเคล้าคลอไปกับหมอลำหญิงชาย สำหรับคำว่า ลำ คือ การด้นคำคล้องจองต่อเนื่อง เป็นการแสดงที่คนไทยเข้าใจว่า ‘ไม่ไทย’ อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ความเป็นไทยมาจากสิ่งที่ไม่ไทย และมาจากหลายทิศทาง ไม่ใช่ทางเดียว
“ผมพูดอย่างนี้ เตรียมสนามไว้รับทัวร์แล้ว ที่ผ่านมาระบบการศึกษาปิดกั้น ไม่เอาข้อมูลมาพูดกัน เรื่องเกี่ยวกับอีสาน พูดกันไปเรื่อยเปื่อย แบบเรียน ตำราเรียนทางการ ควรมีเรื่องหมอลำโดยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง” นายสุจิตต์ กล่าว
นายสุจิตต์ กล่าวด้วยว่า การที่หมอลำอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ และยังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะไม่พัฒนาไม่หยุดนิ่ง และเข้ากันได้กับวัฒนธรรมป๊อป สามารถปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางวัฒนธรรมตะวันตกที่ทรงพลังมหาศาล ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม
“เครื่องดนตรีอย่างแคนซึ่งทำจากไม้ไผ่ มีหลักฐานเก่าแก่ถึง 2,500 ปี และไม่ได้พบแค่ในลาว อีสาน แต่จีนก็มี หัวใจของแคนอยู่ที่ลิ้น สัมฤทธิ์ต้องบางที่สุด ถือเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ถามว่าทำได้ไหม มีหลักฐานว่าทำได้ อย่างแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร กาญจนบุรี ก็เคยพบสัมฤทธิ์บางเท่าเปลือกไข่ ไม่อย่างนั้นเป่าแล้วเสียงไม่เด้ง เดิมการเป่าแคนคลอหมอลำ ทำเพื่อสื่อสารผีฟ้า หวังขอฝน
หมอลำไม่รังเกียจป๊อป แต่ยินดี และอยากเป็นป๊อป จึงอยู่มาได้กับสังคมปัจจุบันโดยมีพัฒนาการยาวนาน หมอลำแบบเก่าก็ยังอยู่ แบบใหม่ก็ดำเนินไป ไม่ขาดตอน แต่สร้างบรรยากาศและสิ่งใหม่ เช่น หมอลำซิ่ง หมอลำลูกทุ่ง คนที่ทำให้หมอลำดังระเบิด คือ พรศักดิ์ ส่องแสง จากเพลงสาวจันทร์กั้งโกบ เขากลายเป็นตำนานไปแล้ว”
ทั้งนี้ รายการในตอนดังกล่าวจะเผยแพร่ในวันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 20.00 น. ทางเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูปมติชนทีวี