ชาญวิทย์ จ่อลุย ‘เกาะกง’ ตามรอย จอมพล ป. อธิการ มธ. คนแรก แต่ถูกลืม
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม มูลนิธิจอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดกิจกรรม ‘ตามรอยพระเจ้าตากสินไปจันทบุรี ตามรอยจอมพล ป.พิบูลสงครามไปตราดและเกาะกง’ โดยมีการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆในจังหวัด ระยอง จันทบุรี และตราด รวมถึงเกาะกง ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 7-10 มีนาคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนทั่วไป รวมถึงนักวิชาการชื่อดังเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กรรมการมูลนิธิจอมพล ป. ฯ , ผศ.ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์คณะราษฎร เป็นต้น
ในตอนหนึ่ง ศ. พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กล่าวว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลี้ภัยไปกัมพูชา แล้วเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น จากนั้นยังไปบวชที่อินเดีย น่าสนใจมาก ผมคิดว่าการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์
“จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นคนที่ถูกลืม เป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อไหม คนธรรมศาสตร์ก็เข้าใจผิด อธิการบดีบางคนต้องถูกชาญวิทย์เตือนอยู่เรื่อยๆ ต้องเขียนจดหมายไปบอกว่า อันที่จริง อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ จอมพล ป. โดยดำรงตำแหน่งอยู่ 5 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2495-2500 ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งก็ถูกลืม เป็นผู้ประศาสน์ (ผู้ก่อตั้ง) การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ผมมีเรื่องคุยเยอะ เป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ที่ชอบนอกเรื่อง ถ้าสอนตามตำราเรียน จะน่าเบื่อมาก แต่ถ้านอกเรื่อง นักศึกษาจะมานั่งหน้า
พ.ศ.2533 หรือ 35 ปีก่อน ครั้งพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายรับรองเฮง สัมริน กับ ฮุน เซ็น ดังนั้น จึงเปลี่ยนบรรยากาศในการสู้รบที่มีมาเป็นเวลานาน การเมืองไทยเปลี่ยนทันที เราเปิดรับประเทศเพื่อนบ้าน ผมซื้อรถจี๊ปคันหนึ่ง ขับออกจากกรุงเทพฯ ไปแถวชายแเดนกาญจนบุรี จังหวัดตาก ไต่ตามพรมแดนไปเรื่อยๆ ถึงสามเหลี่ยมทองคำ แล้วลงมาตามลุ่มน้ำโขง ไล่ลงมาถึงภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด แล้วข้ามไปเกาะกง โดยเขียนบันทึกทุกวัน” ศ. พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ กล่าว
ศ. พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สมัยนั้น ถ้าพูดตรงๆ ความเป็นคนไทย คือความภาคภูมิใจอย่างมาก ชายแดนพม่า น่าสงสารมาก ฝั่งลาว ไล่ลงมากระทั่งถึงกัมพูชาก็น่าสงสารมาก
“แต่ถ้าคุณไปพนมเปญตอนนี้ มึนเลย จากที่เคยคิดว่ากรุงเทพฯ สุดยอด ตอนนี้ กัมพูชามาแรงมาก ไม่นับกรณีจีนเทา” ศ. พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ การลี้ภัยของจอมพล ป. มีขึ้นในคืนวันที่ 16 กันยายน 2500 หลังการรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพล ป. พร้อมคนสนิท ขับรถยนต์ออกจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าทางสุขุมวิท ไปสว่างที่จังหวัดตราด แล้วหาทางลี้ภัยไปกัมพูชาด้วยเรือในฤดูมรสุม โดยมี ‘กำนันโจ๊ด’ ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงเด็กชายวัย 19 ปีเป็นผู้ขับเรือสู่เกาะกง