กรมศิลป์ ปักหมุดเขตที่ดิน ‘เมืองสงขลาเก่า’ ป้องกันบุกรุกโบราณสถาน

สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ลุยโครงการปักหมุดเขตที่ดินโบราณสถาน ‘เมืองสงขลาเก่า’ สร้างความชัดเจนในแนวเขตโบราณสถาน ป้องกันการบุกรุก

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม นายดุสิต ทุมมากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา พร้อมด้วยนายธัญญวัฒน์ วัตตธรรม ปลัดอำเภอสิงหนคร หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง นายนิรันดร์ นุ่มนวล ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน นางสุณิชา ประชุมทอง พนักงานดูแลรักษาโบราณสถาน และเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ดำเนินการปักหมุดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองสงขลาเก่า ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ ป้องกันการบุกรุกโบราณสถาน ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้มีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ร่วมรับผิดชอบดูแลทะนุบำรุงรักษาไว้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น และเพื่อลดอัตราการสูญเสีย การถูกทำลายของโบราณสถาน โบราณวัตถุให้น้อยลง

โดยผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ดำเนินการสำรวจตรวจสอบโบราณสถานป้อมหมายเลข 8 ซึ่งเป็นโบราณสถานส่วนหนึ่งของโบราณสถานเมืองสงขลาเก่า

ADVERTISMENT

ทั้งนี้โบราณสถานบริเวณเมืองสงขลาเก่า ถือเป็นศูนย์กลางเมืองสงขลาเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารโบราณว่า “Singora” เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ก่อตั้งเมืองโดยดาโต๊ะโมกอลล์ และปกครองต่อมาโดยสุลต่านสุไลมาน

ในช่วงเวลาดังกล่าว เมืองสงขลาเป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งของภาคใต้ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีการขยายตัวทางด้านการค้ากับต่างประเทศ เช่น ดัตช์ อังกฤษ ฝรั่งเศส แต่ต่อมาเมื่อเมืองสงขลาเริ่มแข็งเมืองกับกรุงศรีอยุธยา จนทำให้ทางกรุงศรีอยุธยาต้องส่งกำลังมาปราบปรามจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2223 ทำให้บ้านเมืองฝั่งนี้กลายเป็นเมืองร้าง

ต่อมาผู้คนได้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งที่อยู่แห่งใหม่ ณ บริเวณปลายสุดของคาบสมุทรสทิงพระ หรือบ้านแหลมสน และเรียกกันต่อมาว่า “เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ โดยอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองเชื้อสายจีน

เมืองสงขลาเก่าเป็นเมืองที่มีคูเมือง กำแพงเมือง และป้อมปราการ เป็นอาณาเขตและเป็นปราการของเมือง แผนผังเมืองที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2230 แสดงแผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูเมือง และกำแพงเมืองเป็นปราการด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มีเขาแดง เขาน้อยและเขาค่ายม่วงเป็นปราการด้านทิศใต้

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตโบราณสถานเมืองสงขลาเก่า ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 109 ตอนที่ 119 หน้า 10190 วันที่ 17 กันยายน 2535 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2460 ไร่